ล้มแผนฟื้นชีพแอร์บัส A380 บินไทยเสริมทัพฝูงบิน 9 ลำรับผู้โดยสารพุ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ล้มแผนฟื้นชีพแอร์บัส A380 บินไทยเสริมทัพฝูงบิน 9 ลำรับผู้โดยสารพุ่ง

Date Time: 19 ธ.ค. 2565 06:24 น.

Summary

  • ส่องฝูงบินการบินไทย ให้บริการเต็มสูบบินทั่วโลก 61 ลำ ต้นปีหน้าเสริมทัพอีกไม่ต่ำกว่า 9 ลำ รองรับผู้โดยสารพุ่ง พับแผนคืนชีพ A380 ค่าซ่อมหลักพันล้าน ขณะที่เครื่องบินยังจอดรอขายอยู่อีก 22 ลำ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ส่องฝูงบินการบินไทย ให้บริการเต็มสูบบินทั่วโลก 61 ลำ ต้นปีหน้าเสริมทัพอีกไม่ต่ำกว่า 9 ลำ รองรับผู้โดยสารพุ่ง พับแผนคืนชีพ A380 ค่าซ่อมหลักพันล้าน ขณะที่เครื่องบินยังจอดรอขายอยู่อีก 22 ลำ

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 66 การบินไทยมีแผนจัดหาเครื่องบินมาให้บริการเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 9 ลำ ประกอบด้วย แอร์บัส A330-300 จำนวน 3 ลำ และโบอิ้ง B777-200ER 2 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินที่จอดพักไว้ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 โดยอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง เพื่อนำกลับมาบินใช้งานได้ตามปกติ นอกจากนี้จะเป็นการเช่าเครื่องบินใหม่แอร์บัส A350-900 จำนวน 4 ลำ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคม คาดว่าลำแรกจะเข้ามาในไตรมาสที่ 1 ปี 66

ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินทำการบินจำนวน 61 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินสำหรับให้บริการของสายการบินไทย ได้แก่ แอร์บัส A350 จำนวน 12 ลำ, โบอิ้ง B777-200ER จำนวน 4 ลำ, โบอิ้ง B777-300ER จำนวน 17 ลำ,โบอิ้ง B787 จำนวน 8 ลำ และเครื่องบินแอร์บัส A320-200 สำหรับให้บริการของสายการบินไทยสมายล์ 20 ลำ อย่างไรก็ตาม ยังมีแผนเตรียมเช่าเครื่องบินระยะสั้นสำหรับสายการบินไทยสมายล์ โดยพิจารณาเครื่องบินประเภทลำตัวแคบ ประมาณ 10 ลำ อาทิ โบอิ้ง B777 เพื่อมารองรับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยและต้องเร่งจัดหา หากจีนเปิดประเทศ กังวลว่าเครื่องบินจะไม่เพียงพอ

นายสุวรรธนะ กล่าวว่า ขณะนี้เครื่องบินทั้ง 61 ลำ มีชั่วโมงการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือว่าค่อนข้างเต็มประสิทธิภาพแล้ว โดยก่อนเกิดโควิด-19 ชั่วโมงการใช้เครื่องบินที่ทำได้สูงสุดเฉลี่ย 13 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตามเครื่องบินที่นำเข้ามาประจำฝูงบินเพิ่มเติมในปี 66 นั้น จะนำไปทำการบิน เพื่อเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินต่างๆทั่วโลกที่สายการบินไทยเปิดให้บริการอยู่ โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป และญี่ปุ่น นอกจากนี้จะนำไปทำการบินในจุดบินเดิมที่หยุดบินในช่วงเกิดโควิด-19 ซึ่งขณะนี้บริษัทเปิดทำการบินในเส้นทางบินเดิมไปแล้วประมาณ 70%

“อีกทั้งยังมีเครื่องบินอีกหลายลำที่จอดรอการขาย ก่อนหน้านี้มีแผนจะนำแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำที่ยังขายไม่ได้ มาปรับปรุงรองรับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่สูงขึ้น เพราะเครื่องประเภทดังกล่าวสามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวนมาก แต่เมื่อหารือกับทางแอร์บัส และฝ่ายช่าง พบว่าการนำเครื่องบินที่จอดทิ้งไว้ 2 ปีกลับมาบินอีกครั้ง ต้องใช้เวลาดำเนินการเช็กสภาพ และตรวจสอบต่างๆ ประมาณ 7-8 เดือน เพื่อให้พร้อมกลับมาบินอย่างปลอดภัย อีกทั้งต้องใช้เงินมหาศาลหลักพันล้านบาท ดังนั้นจึงพับแผนดังกล่าวไปก่อน”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทจำหน่ายเครื่องบินได้แล้ว รอส่งมอบ 19 ลำ ประกอบด้วย แอร์บัส A300-600 จำนวน 1 ลำ, โบอิ้ง B737-100 จำนวน 1 ลำ, โบอิ้ง B747-400 จำนวน 12 ลำ, แอร์บัส A340-500 จำนวน 1 ลำ และแอร์บัส A340-600 จำนวน 4 ลำ ส่วนที่ยังจอดรอการขาย มี 22 ลำ ประกอบด้วย แอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ, แอร์บัส A340-500 จำนวน 2 ลำ,แอร์บัส A340-600 จำนวน 2 ลำ, โบอิ้งB777-300 จำนวน 6 ลำ และโบอิ้ง B777-200 จำนวน 6 ลำ ขณะเดียวกันยังมีอีก 5 ลำที่โอนให้ผู้ค้ำประกันเงินกู้ไปแล้ว

ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการลบโลโก้การบินไทยบนเครื่องบิน 5 ลำดังกล่าวอยู่รายงานข่าวจากบริษัทการบินไทยฯ แจ้งว่า สำหรับการเช่าเครื่องบินแบบ แอร์บัส A350-900 จำนวน 4 ลำ ที่จะเข้ามาประจำฝูงบินในปี 66 นั้น มีระยะเวลาการเช่า 12 ปี ค่าเช่าเครื่องบินลำละ
7.7 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 27 ล้านบาท โดยจะชำระค่าเช่าเครื่องบินเป็นรายเดือน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ