ความมั่นคงด้านพลังงาน ปัจจัยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ความมั่นคงด้านพลังงาน ปัจจัยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

Date Time: 19 ธ.ค. 2565 05:46 น.

Summary

  • ในสภาวะที่ทุกประเทศพยายามช่วงชิงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ไทยเองก็ไม่น้อยหน้าใคร ปีนี้มียอดคำขอส่งเสริมการลงทุนที่ยื่นกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่ากว่า 7 แสนล้าน

Latest

ซอส พาวเวอร์ เมื่อเครื่องปรุงไทย ของฮิตต่างชาติ ยุโรป ญี่ปุ่น รักจนยืนหนึ่งใน “ซอฟต์พาวเวอร์

ในสภาวะที่ทุกประเทศพยายามช่วงชิงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ไทยเองก็ไม่น้อยหน้าใคร ปีนี้มียอดคำขอส่งเสริมการลงทุนที่ยื่นกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท และยังมีข่าวดีซาอุดีอาระเบียมีแผนจะลงทุนในไทยถึง 3 แสนล้านบาท บ่งชี้ว่าต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตและขยายกิจการหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย

ระยะหลังเวียดนามมาแรง มีเม็ดเงินต่างชาติเข้าไปลงทุนเยอะ เพราะค่าแรงถูก แรงงานมีความอดทนสูง แต่นักธุรกิจต่างชาติก็ยังเชื่อมั่นและชื่นชอบประเทศไทย สาเหตุหลักคือไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าอีกหลายประเทศ ทั้งถนนหนทางการคมนาคม น้ำประปา อินเตอร์เน็ต และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือไฟฟ้า

ระบบไฟฟ้าของไทย อยู่ในระดับดีมาก กระแสไฟเสถียร ไม่กระชากติดๆดับๆ และไม่มีเหตุไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง (Blackout) เหมือนอย่างที่เกิดในหลายประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติจึงมั่นใจที่จะมาตั้งฐานการผลิตในไทย เพราะถ้าไฟดับหรือไฟกระชากบ่อย การผลิตสินค้าอาจเสียหายหนัก หรือกว่าจะกลับมาเดินเครื่องผลิตอีกครั้งต้องเสียเวลาพอสมควร ทำให้ผลิตสินค้าไม่ได้ตามออเดอร์

การที่ความมั่นคงด้านไฟฟ้ากลายเป็นจุดแข็งของไทยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2553 ที่มีการจัดทำ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับแรก ที่เปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า และจำหน่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อเพิ่มผลผลิตและศักยภาพในกิจการพลังงาน ทำให้ปัจจุบันผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันได้ช่วยลดภาระการลงทุนของรัฐ และลดภาระหนี้สาธารณะด้วย การสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งต้องใช้เงินเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาท ถ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะลงทุนสร้างก็ต้องกู้ยืมเงินโดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน ต่างกับภาคเอกชนที่มีความพร้อมมากกว่า ทั้งเงินทุน องค์ความรู้ และความรวดเร็ว

การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าของภาคเอกชนจึงเป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และแม้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะสร้างและบริหารงานโดยเอกชน แต่ในข้อกำหนดการสร้างโรงไฟฟ้าตามแผน PDP กำหนดให้ กฟผ.สามารถสั่งการโรงไฟฟ้าเอกชนให้ผลิตไฟฟ้าโดยทันทีที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ หรือกรณีที่โรงไฟฟ้าแห่งใดแห่งหนึ่งเกิดปัญหาขึ้น ก็จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนเหล่านี้เข้ามาเสริมได้ทันท่วงที ปลอดภัยจากปัญหาไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้การที่ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนกิจการไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แผน PDP ฉบับแรก ทำให้ กระจายความเจริญและการลงทุนไปยังหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งเป็นการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า ช่วยลดความสูญเสียในระบบไฟฟ้าไปในตัว

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ณ วันที่ 1 ธ.ค.65 มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจำนวน 1,271 ราย กำลังการผลิตตามสัญญารวม 33,759.18 เมกะวัตต์ ซึ่งผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบทั้ง 1,271 รายประกอบด้วย บริษัทเอกชน (รวมถึงบริษัทลูกของ กฟผ. และบริษัทที่ กฟผ.เข้าไปถือหุ้นอยู่ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย) ภาคประชาชน วิสาหกิจชุมชน หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆที่นอกเหนือจากการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง

โครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของไทยที่มีทั้งภาครัฐนำโดย กฟผ. กับภาคเอกชน หนุนเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้า ได้สร้างระบบนิเวศที่เอื้อการลงทุนของต่างชาติ พัฒนาตลาดทุนของประเทศ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งนานาประเทศล้วนมุ่งสู่แนวทางนี้.

ลมกรด


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ