ส.อ.ท.จี้ภาครัฐชะลอขึ้นค่าไฟฟ้า เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ส.อ.ท.จี้ภาครัฐชะลอขึ้นค่าไฟฟ้า เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรม

Date Time: 12 ธ.ค. 2565 05:40 น.

Summary

  • ส.อ.ท.ขอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ขอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 และที่ผ่านมา ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทั้งค่าพลังงาน วัตถุดิบ ค่าแรง ทยอยขึ้นหมด จึงอาจทำให้ สินค้าบางประเภทขึ้นราคาได้อีก สุดท้ายจะกลับมากระทบประชาชน

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นชอบข้อเสนอของ ส.อ.ท.ที่ขอให้เสนอภาครัฐชะลอปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดใหม่ เดือน ม.ค.-เม.ย.66 โดยมี 4 เหตุผล ได้แก่

1.ค่าเอฟทีงวดปัจจุบัน ก.ย.-ธ.ค.65 ได้ขึ้นมาแล้วมากถึง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17% กระทบต่อภาคการผลิตอยู่แล้ว หากปรับขึ้นอีกในงวด ม.ค.-เม.ย.66 ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็น 3 แนวทาง ที่จะขยับเป็น 5.37-6.03 บาทต่อหน่วย จะเป็นการปรับขึ้นรุนแรง 2 งวดติดต่อกัน จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทุกภาคส่วน อาจทำให้เศรษฐกิจถดถอยเกินกว่าที่คาดไว้ได้

2.กรณีที่ กกพ.ได้ประมาณการต้นทุนค่าไฟฟ้า ว่าจะลดลงได้ครึ่งหลังปี 66 จึงมองว่าควรชะลอการขึ้นค่าเอฟทีงวด ม.ค.-เม.ย.66 ไว้ก่อน เมื่อต้นทุน ค่าไฟฟ้าลดต่ำแล้ว จึงบริหารค่าเอฟทีเพื่อชดเชยและลดภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับแทนผู้ใช้ไฟปัจจุบัน

3.ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกภาระแทนประชาชน 120,000 ล้านบาท อยู่ในวิสัยที่รัฐจะบริหาร จัดการให้ กฟผ.รับภาระได้มากขึ้นและนานขึ้นได้

4.ในสถานการณ์ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นสูงมาก เศรษฐกิจ ชะลอตัวกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงมากกว่าปกติ จนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระค่าความพร้อมจ่าย (AP) ของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสูงถึง 30,665 ล้านบาท (งวด ก.ย.-ธ.ค.65) และ 32,420 ล้านบาท (งวด ม.ค.-เม.ย.66) จึงควรให้ 3 การไฟฟ้าเร่งตัดทอนการลงทุนอย่างเข้มข้น เพื่อนำเงินส่วนนี้ มาช่วยลดค่าไฟฟ้า เนื่องจากเป็นเงินซึ่ง 3 การไฟฟ้าได้เรียกเก็บไว้ในค่าไฟฟ้าฐานล่วงหน้าอยู่แล้ว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ