“จุรินทร์” สั่งตั้งวอร์รูมเกาะติดและทำงานใกล้ชิดรัฐและเอกชน เบื้องต้นเตรียมลุยเจาะ 3 ตลาดใหญ่ “ตะวันออกกลาง-เอเชียใต้-ซีแอลเอ็มวี” ดันเพิ่มยอดส่งออก พร้อมรุกทำมินิ เอฟทีเอ กับเมืองหรือเขตเศรษฐกิจสำคัญของอังกฤษ ลาฮอร์ของปากีสถาน และอ่าวอาหรับ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ว่า ที่ประชุมมีมติให้ตั้งวอร์รูม กรอ.พาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนทั้งหมด เพื่อทำงาน ร่วมกันอย่างใกล้ชิดตลอดปี 2566 เพื่อให้การส่งออกขยายตัวให้ได้มากที่สุด เพราะคาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลงเหลือ 2.7% จากปี 2565 ที่ขยายตัว 3.2% ประกอบกับยังมีปัจจัยเสี่ยงอีก ทั้งความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบต่อราคาพลังงานและความมั่นคงทางอาหารของโลก นโยบายซีโร่โควิดของจีน คู่ค้าลำดับหนึ่ง และเป็นตลาดส่งออก ลำดับที่ 2 ของไทย และค่าเงินบาทที่มีผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ
พร้อมกันนั้น ได้ตั้งเป้าหมายบุกตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มยอดการส่งออกจากมาตรการปกติที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นกรณีเฉพาะโดยจะบุก 3 ตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย ตลาดตะวัน ออกกลาง ตลาดเอเชียใต้ และตลาดซีแอลเอ็มวี โดยทั้ง 3 ตลาดนี้ ปี 2565 คาดมียอดการส่งออกรวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท และปี 2566 จะเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาท
โดยตลาดตะวันออกกลาง จะมุ่ง 3 ตลาดหลัก คือ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ สินค้าเป้าหมายสำคัญ คือ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศและวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ตั้งเป้าปี 2566 เพิ่มตัวเลขส่งออก 3 ประเทศนี้ 20% จาก 8,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2565 เป็น 10,300 ล้านเหรียญฯในปี 2566
สำหรับตลาดเอเชียใต้ เน้น 3 ประเทศสำคัญ คือ อินเดีย บังกลาเทศ และเนปาล ตั้งเป้าส่งออกปี 2566 เพิ่มขึ้น 10% จากปีนี้ที่ 12,000 ล้านเหรียญฯ เป็น 13,200 ล้านเหรียญฯ ในปี 2566 ส่วนสินค้าสำคัญ เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
ขณะที่ตลาดซีแอลเอ็มวี คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตั้งเป้าส่งออกเพิ่ม 10-15% จาก 28,000 ล้านเหรียญฯในปี 2565 เป็น 33,500 ล้านเหรียญฯ ในปี 2566 สินค้าเป้าหมายสำคัญ เช่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และยังจะเร่งรัดการค้าชายแดน เช่น อาหาร ผลไม้ ผักและสินค้าอื่นๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบการนำคณะไปเยือนประเทศสำคัญ คือ 1.สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ จะเป็นอีกประตูสำคัญหนึ่งนอกจากซาอุดีอาระเบียที่จะใช้ส่งสินค้าไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 2.อินเดีย โดยเฉพาะรัฐคุชราต มีเมืองอาห์เมดาบัด ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอินเดีย มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 3.มณฑลยูนนาน ซึ่งไทยต้องเร่งรัดทำมินิ เอฟทีเอ และเป็นตลาดสำคัญของไทยทางตอนใต้ของจีน
ขณะเดียวกัน จะเดินหน้าทำมินิ เอฟทีเอกับเมืองหรือเขตเศรษฐกิจสำคัญของอังกฤษ เป็นการเร่งด่วน ควบคู่กับการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับอังกฤษด้วย รวมถึงทำมินิ เอฟทีเอกับปากีสถาน โดยเฉพาะเมืองลาฮอร์ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของปากีสถาน และกลุ่มอ่าวอาหรับ (จีซีซี)
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่าปี 2566 สนพ.ได้คาดการณ์แนวโน้มความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยแบ่งเป็นการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 4.2% ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.8% การใช้ถ่านหิน/ ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 1.1% และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้น 4.4% โดยประเมินว่าแนวโน้มราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกยังคงผันผวน
ทั้งนี้จะต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิดว่าจะมี ผลต่อความต้องการใช้พลังงานอย่างไรบ้าง เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคการส่งออก สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการอนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศจีน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะติดตาม และบริหารนโยบายพลังงานในช่วงวิกฤติราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานต่อไป.