อ้าง “ครม.” ไฟเขียวแล้ว คลังเมินแมงเม่าประท้วงรีดภาษีขายหุ้น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อ้าง “ครม.” ไฟเขียวแล้ว คลังเมินแมงเม่าประท้วงรีดภาษีขายหุ้น

Date Time: 8 ธ.ค. 2565 06:01 น.

Summary

  • คลังเมินรายย่อยประท้วง เดินหน้าเก็บภาษีซื้อหุ้น ระบุที่ประชุม ครม.มีมติไปแล้ว พร้อมกับอธิบายเหตุผลถึงการจัดเก็บไปแล้ว ขณะเดียวกันเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างรายได้ ดันสัดส่วนรายได้แตะ 16%

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

คลังเมินรายย่อยประท้วง เดินหน้าเก็บภาษีซื้อหุ้น ระบุที่ประชุม ครม.มีมติไปแล้ว พร้อมกับอธิบายเหตุผลถึงการจัดเก็บไปแล้ว ขณะเดียวกันเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างรายได้ ดันสัดส่วนรายได้แตะ 16% ของจีดีพี ในอีก 5 ปีข้างหน้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากกรณีที่สภาธุรกิจตลาดทุน เตรียมยื่นหนังสือคัดค้านนโยบายการเก็บภาษีขายหุ้นของรัฐบาลนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนกรณีนักลงทุนรายย่อยจะหยุดการซื้อขายหุ้นวันนี้ (8 ธ.ค.) เพื่อประท้วงนโยบายการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้น เป็นเรื่องของนักลงทุนรายย่อย คงไม่สามารถห้ามซื้อขายหุ้นได้

“กระทรวงการคลัง คงไม่ทบทวนการจัดเก็บภาษีขายหุ้น เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไปแล้ว และสำนักงานกฤษฎีกาอยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดก่อนประกาศในราชกิจจา โดยกระทรวงการคลังได้อธิบายชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นในการจัดเก็บภาษีหุ้นไปหมดแล้ว และการจัดเก็บภาษีหุ้น เป็นแนวทางเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงเป็นอัตราที่ต่ำกว่าหลายประเทศในกลุ่มเอเชีย ยกเว้นสิงคโปร์เท่านั้น”

ขณะเดียวกันนายอาคม ได้ปาฐกถาพิเศษงาน Bangkok Post Year-End Forum 2022 “Thailand Insights 2023 : Unlocking the Future” ว่า ประเทศไทยและโลกกำลังจะเข้าสู่ปีแห่งการท้าทาย ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วมาก แต่เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวไทย ซึ่งวันที่ 10 ธ.ค.นี้ จะมีจำนวนครบ 10 ล้านคน และย้ำว่าปีนี้และปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตภายใต้กรอบ 3-4% โดยปีนี้เติบโต 3.2% ปีหน้า 3.8% ตามลำดับ

สำหรับประเด็นความท้าท้ายในอนาคต 4 หลัก ได้แก่ 1.การบริหารเศรษฐกิจมหภาคโดยในส่วน ของนโยบายการเงินการคลัง หลังจากพ้นวิกฤติโควิดแล้ว มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาก็ต้องทยอยลดลง รวมถึงมาตรการที่เคยผ่อนปรนไว้ ก็ต้องนำกลับมาดำเนินนโยบายตามปกติ ขณะเดียวกันจะใช้งบประมาณที่มีอยู่มาดำเนินการ ส่วนการลงทุนก็จะให้ความสำคัญกับโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) มากขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายการคลัง ที่ต้องสร้างความมั่งคงเรื่องการจัดเก็บรายได้ ปัจจุบันการจัดเก็บรายได้ต่อผลิตภัณฑ์มวลของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2556 อยู่ที่ 17% ของจีดีพี ลดลงมาอยู่ที่ 14.9% ในปี 2564 เพราะภาวะวิกฤติโควิด ดังนั้นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ปฏิรูปโครงสร้างภาษี ปรับโครงสร้างรายได้ ซึ่งตามแผนการดำเนินงานในปีอีก 5 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้จะต้องอยู่ที่ 16% ของจีดีพี

2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการในหลายเรื่อง อาทิ การสนับสนุนการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนในเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น 3.การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและ 4.การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ทันรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจปี 2566 โดยคาดว่าจีดีพีจะเติบโต 3-3.5% จากปีนี้ที่คาดว่า 3.2% การส่งออกขยายตัว 1-2% จากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 7.25% และเงินเฟ้อ 2.7-3.2% จากปีนี้ 6.2% ทั้งนี้ มาจากปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน ภายใต้ ข้อจำกัดของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ