ร่วมปลูกปั้น “กาแฟไทย”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ร่วมปลูกปั้น “กาแฟไทย”

Date Time: 29 พ.ย. 2565 06:38 น.

Summary

  • “กาแฟ” ถือได้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ประชาชนนิยมบริโภคในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้กาแฟเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้านกาแฟผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

“กาแฟ” ถือได้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ประชาชนนิยมบริโภคในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้กาแฟเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้านกาแฟผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวไทยนิยมดื่มกาแฟมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจผลิตกาแฟและร้านกาแฟมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดราว 60,000 ล้านบาท มูลค่านำเข้ากว่า 5,700 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 ที่มีมูลค่านำเข้าอยู่ที่ 3,688ล้านบาท

ประเทศไทยมีการปลูกกาแฟในหลายพื้นที่ของประเทศ และมีกาแฟไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว 7 รายการ ได้แก่ กาแฟเทพเสด็จ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง กาแฟดงมะไฟ กาแฟวังน้ำเขียว กาแฟเมืองกระบี่ และกาแฟเขาทะลุ มีพื้นที่เพาะปลูกกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่พื้นที่นิยมปลูก คือ ภาคเหนือ และภาคใต้

โดยกาแฟที่ปลูกภาคเหนือ เป็นพันธุ์อาราบิก้า กาแฟที่ปลูกพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 800-1,000 เมตร รสชาติของเมล็ดกาแฟจะกลมกล่อม นุ่มนวล มีปริมาณคาเฟอีนที่ต่ำทำให้กาแฟ พันธุ์อาราบิก้าได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ส่วนภาคใต้ จะปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสตา ปลูกได้ในพื้นที่ต่ำ หรือสูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 500-600 เมตรเท่านั้น อยู่ในอากาศที่ชุ่มชื้นได้ และทนความร้อนได้ จุดเด่น คือ จะมีกลิ่นฉุน มีความเข้มข้น ขมถูกใจคอกาแฟที่ชอบทานกาแฟเข้มๆ

และกว่าจะมาเป็นกาแฟแต่ละเมล็ดนั้น ต้องเริ่มจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ใช้เวลาปลูก 3-5 ปี จึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งโรงคั่วกาแฟ แล้วนำมาแปรรูปเป็นเมล็ดกาแฟ นำส่งร้านกาแฟ และโรงงานผลิตกาแฟ เพื่อเสิร์ฟผู้บริโภคที่ชื่นชอบ

ดังนั้น เมื่อธุรกิจกาแฟไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมเกษตรกรไทยเพาะปลูกกาแฟ จึงเป็นเรื่องจำเป็น นอกจาก ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ยังช่วยลดการทำไร่เลื่อนลอย การปลูกกาแฟทดแทนพื้นที่อื่นๆ เช่น ในพื้นที่ภาคเหนือ มีการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาปลูกกาแฟ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น และยาเสพติดมาตั้งแต่ปี 2529

ล่าสุดธนาคารออมสิน ได้ร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม หรือ Holistic Area-Based Development ถือเป็นโครงการต้นแบบ โดยคัดเลือก 5 หมู่บ้านของพื้นที่ห่างไกลในตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ได้แก่ 1.บ้านเปียงซ้อ 2.บ้านห้วยฟอง 3.บ้านสะจุก 4.บ้านสะเกี้ยง 5.บ้านห้วยเต๋ย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ จำนวน 500 ครัวเรือน เปลี่ยนจากทำเกษตรเลื่อนลอยมาปลูกกาแฟคุณภาพมาตรฐานญี่ปุ่น แล้วนำส่งโรงคั่วกาแฟที่ธนาคารออมสินจะสนับสนุนงบประมาณ 6.90 ล้านบาท ให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯจัดตั้งโรงแปรรูปกาแฟ ที่มีทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ และปัจจัยที่จำเป็นในการแปรรูปเมล็ดกาแฟให้พร้อมจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ต่อกิโลกรัมให้กับเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“การเข้าไปช่วยเหลือครั้งนี้ จะต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน 1 ปี โดยจะกลับมาดูผลงานอีกครั้งในช่วงปลายปี 2566 และคาดว่า จะมีผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการต้นแบบนี้ ไม่น้อยกว่า 10,000ราย” นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการออมสินกล่าว

ด้านร้อยเอก จิทัศ ศรสงคราม กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิได้ส่งเสริมให้ชุมชนปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้ากว่า 4,600 ไร่ ในภาคเหนือ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯจัดเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้ในการเพาะปลูกและบริหารจัดการไร่กาแฟ พร้อมรับซื้อเมล็ดกาแฟสด (กาแฟเชอร์รี่) ในราคาตลาดสูงสุดกิโลกรัมละ 120 บาท คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนมีเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า

เช่นเดียวกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ (OR) ก็ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรไทยปลูกกาแฟ และร้านคาเฟ่ อเมซอน ก็รับซื้อผลผลิตกาแฟ เพื่อป้อนโรงคั่วกาแฟและส่งต่อไปให้ร้านกาแฟอเมซอนทั่วประเทศเกือบ 4,000 แห่ง ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวง ดำเนินงานโครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มาตั้งแต่ปี 2557

การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟ และนำส่งโรงคั่วของโออาร์ นั้น นอกจากช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นรายได้สำคัญของโออาร์ ทำให้ต้องใส่ใจตั้งแต่กระบวนการผลิต การรับซื้อกาแฟจากเกษตรกร ขณะนี้เตรียมขยายโรงคั่ว เพื่อรองรับความต้องการบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ปริมาณกาแฟที่มีอยู่ถือว่าตึงตัวมาก คือ มีกำลังการผลิต 5,000 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้ 4,500 ตัน ดังนั้นเมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น ก็ต้องเตรียมความพร้อมรองรับ การเติบโตของตลาดกาแฟที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10%

ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ส่งออกกาแฟ แต่ยังคงเป็นผู้นำเข้ากาแฟ เพราะการบริโภคในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกกาแฟได้

แต่นั่นต้องมาจากความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมการปลูกกาแฟอย่างจริงจัง เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน!!

ดวงพร อุดมทิพย์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ