“สุพัฒนพงษ์” เผยรัฐบาลเตรียมออกมาตรการช่วยค่าไฟฟ้า งวดใหม่ คาด ธ.ค.นี้ ได้ข้อสรุป หลังค่าเอฟทีงวดเดือน ม.ค.-มิ.ย.พุ่งพรวด ด้าน พพ.ยืนยันแม้ช่วงบอลโลก จะใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แต่สำรองไฟไว้พร้อมไม่มีไฟตก-ดับแน่นอน และยังไม่จำเป็นต้องชงมาตรการประหยัดค่าไฟภาคบังคับ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาแนวทางการดูแลค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ ขอดูแนวโน้มสถานการณ์ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร โดยกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการคำนวณประมาณค่าเอฟที (FT) งวดเดือน ม.ค.-มิ.ย.2566 ซึ่งตอนนี้ได้รับทราบแล้ว แต่ต้องไปดูสมมุติฐานว่าอย่างไร ตัวเลขมีเหตุมีผลอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะต้องรอข้อสรุปอีกครั้งประมาณต้นเดือน ธ.ค.นี้ ว่าจะมีแนวทางอย่างไร จะปรับขึ้นแค่ไหน และจะมีมาตรการอะไรมาช่วยเหลือประชาชน โดยอาจจะมีแนวทางอื่นๆ นอกเหนือจาก 3 แนวทาง ที่คณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุไว้ด้วย
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาแนวทางการดูแลช่วยเหลือประชาชนรายได้น้อยที่ใช้ไฟฟ้า จากเดิมได้ช่วยเหลือประชาชน 2 กลุ่มว่า จะดูแลต่อไปอย่างไรได้บ้าง ประกอบด้วย กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ย.2565-ธ.ค.2565 และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นกัน โดยการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า FT เดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 แบบขั้นบันได ในอัตรา 15-75%
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2565 ได้เห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟที สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 พร้อมให้สำนักงาน กกพ.นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. แบกรับในกรณีต่างๆ ดังนี้ กรณีที่ 1 ค่าเอฟที เรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 224.98 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ.จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ.จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย กรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย
ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งที่ 22 ที่ประเทศกาตาร์ อาจทำให้ประเทศไทยเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยยังมีเพียงพอจึงไม่ต้องกังวล หรือแม้กระทั่งการใช้มาตรการบังคับประหยัดไฟฟ้าในช่วงนี้ก็คงไม่เกิดขึ้นแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ประชาชนสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าในส่วนที่ไม่จำเป็นก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ ทั้งนี้ ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ พพ.จะร่วมมือกับภาคธุรกิจเปิดโครงการเอ็นเนอยี บียอน สแตนดาร์ด หรือแผนรณรงค์ประหยัดพลังงาน โดยร่วมมือกับเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว 50-60 ราย เช่น กลุ่มปตท., เอสซีจี, เครือซีพี
ส่วนกรณีที่รัฐบาลได้เตรียมแผนรับมือกรณีราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มีราคาพุ่งสูงเกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียูติดต่อกัน 2 สัปดาห์ โดยจะออกมาตรการประหยัดพลังงานเป็นภาคบังคับว่า กรณีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ พพ.นำเสนอมาตรการให้รัฐบาลไว้แล้วเพื่อรับมือ แต่ดูจากสถานการณ์ราคาแอลเอ็นจีที่ลดลงในขณะนี้ มั่นใจว่า มาตรการบังคับประหยัดโดยเฉพาะการเปิดปิดไฟฟ้าเป็นเวลา ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้
ทั้งนี้ พพ.ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2565-2580 หรืออีอีพี 2022 โดยเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมให้ข้อมูลและความคิดเห็น โดยร่างแผนอีพีอีพี 2022 ใหม่ ได้วางเป้าหมายลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานจากแผนเดิม หรืออีอีพี 2018 ลง 30% ในปี 2580 ปรับเป็นลง 36% หรือเป็นพลังงานที่คาดว่าจะลดได้ 35,497 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบคิดเป็นมูลค่าประหยัดได้ 532,455 ล้านบาท.