ประกาศใช้ "พีดีพี 2022" ปี 2566 สนพ.วางเดิมพันคนไทยได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ประกาศใช้ "พีดีพี 2022" ปี 2566 สนพ.วางเดิมพันคนไทยได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก

Date Time: 17 พ.ย. 2565 06:45 น.

Summary

  • “สนพ.” ขีดเส้นตายปี 2566 ประเทศไทยจะได้ใช้แผน “พีดีพี 2022” ที่เน้นยุทธศาสตร์ ใช้คนไทยเป็นเป้าหมายหลัก ในการทำแผน เค้นมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้า ที่มีแนวโน้มทะยานขึ้นต่อเนื่อง

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

“สนพ.” ขีดเส้นตายปี 2566 ประเทศไทยจะได้ใช้แผน “พีดีพี 2022” ที่เน้นยุทธศาสตร์ ใช้คนไทยเป็นเป้าหมายหลัก ในการทำแผน เค้นมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้า ที่มีแนวโน้มทะยานขึ้นต่อเนื่อง เปิดสูตรเกลี่ยเชื้อเพลิง และแหล่งเชื้อเพลิง ให้มีราคาที่สมดุล พร้อมคำนึงถึงต้นทุนสุขภาพ พร้อมแก้ไขปรับปรุงแผนได้ตลอดเวลาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยความคืบหน้า การผลิตและการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ : Power Development Plan 2022 แผนพีดีพี 2022 ที่มีความคืบหน้าไปแล้ว กว่า 60% คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ในปี 2566 นี้ โดยแผนฉบับนี้ ได้ยึดโยงกับวิถีชีวิตของประชาชน ในฐานะผู้บริโภคกับค่าใช้จ่าย ทั้งต้นทุนเชื้อเพลิงและต้นทุนสุขภาพ และเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว แต่จะมีการทบทวนหรือปรับปรุงทุกๆ 2-3 ปี ทั้งที่ เป็นการทบทวนแผน หรือการจัดทำแผนขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในแต่ละช่วงเวลา โดยมีเป้าหมายอาทิ การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงาน หมุนเวียน 26,555 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (น้ำมันเตา-ก๊าซธรรมชาติ) 1,600 เมกะวัตต์ รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 5,207 เมกะวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงาน 10,627 เมกะวัตต์

มุ่งสู่พลังงานสะอาดแก้โลกร้อน

“สถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้า ในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต รวมถึงทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน จึงต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้อง เป็นระยะๆเพื่อให้กระบวนการและขั้นตอน การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย มีการคำนึงถึงการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิง และแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่สมดุล”

นายวัฒนพงษ์กล่าวว่า เหตุผลข้างต้นก็เพื่อให้เป็นการลดความเสี่ยง ของการจัดหาเชื้อเพลิง ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) พลังงานน้ำ พลังงานทดแทนต่างๆ ให้มีความสมดุลระหว่างโรงไฟฟ้าที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง, โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน, การผลิตไฟฟ้าใช้เองของผู้บริโภค โดยต้องมีการคำนึงถึงการบริหารแหล่งเชื้อเพลิง, ระบบส่งไฟฟ้า ตลอดจนเงื่อนไขของการผลิต, ความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็น รายภูมิภาคของประเทศ เพราะในแต่ละภาค ที่มีจำนวนประชากรที่แตกต่างกัน และไม่เท่ากัน รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้า จึงไม่เท่ากันตามไปด้วย

ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จึงเห็นควรให้มีการจัดทำแผนให้สะท้อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ที่จะเน้นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานสะอาดให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ ทำให้แผนพีดีพี 2022 ฉบับนี้ จึงได้ให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ

ปักหมุดตรึงค่าไฟฟ้าให้คนไทย

ประกอบด้วย 1.เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) เพื่อให้มีความมั่นคงครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และความมั่นคงรายพื้นที่ คำนึงถึงผู้ใช้ไฟฟ้านอกระบบ เพื่อให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีความยืดหยุ่น เพียงพอต่อการรองรับ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)

2.การกำหนดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) โดยเฉพาะ อัตราค่าไฟฟ้าเพื่อให้มีเสถียรภาพ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม และไม่เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว

3.ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) จำกัดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ (CO2) ให้สอดคล้องตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ และเป้าหมายการปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของประเทศ (LTS) ตามนโยบายการลดการปลดปล่อยคาร์บอน สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ด้วยการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า (Efficiency) ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าโดยมีการนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดมาใช้อย่างเต็มที่

“ที่สำคัญแผนดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนสมมติฐาน 2 อย่าง ได้แก่ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่มีอยู่ และเป้าหมายเรื่องการตอบโจทย์ เรื่องการไปสู่ Net Zero Carbon ของประเทศไทย ซึ่งหากให้น้ำหนักในเรื่องของการไปสู่การลดคาร์บอนมาก ก็ต้องคำนึงถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนในเรื่องของสายส่งไฟฟ้า และสายจำหน่ายไฟฟ้า ที่ต้องตอบสนองการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน”

เปิด 5 แผนก้าวสู่เป้าหมาย

สำหรับประเทศไทยมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เหลือศูนย์ในปี 2593 ขณะที่ในปัจจุบันยังมีการปล่อยคาร์บอน อยู่ที่ 300 ล้านตันต่อปี คิดเป็นต้นทุนที่เกิดจาก การปล่อยคาร์บอน (carbon liability) ปีละ 900,000-1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในปัจจุบันภาคส่วนที่มีการปล่อยคาร์บอนมากที่สุด คือ ภาคพลังงาน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าที่ยังคงมีการผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวไปถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ได้ จึงต้องมีการปรับปรุงแผนพีดีพี 2022 ของประเทศฉบับใหม่ให้สอดคล้องตามนโยบายดังกล่าว

“แผนพีดีพี 2022 จะทำให้เราก้าวไปสู่เป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ ไทย ผ่าน 5 แนวทาง คือ 1.การเพิ่มสัดส่วน ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 2.การผลิตและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3.การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิล เป็นพลังงานไฟฟ้าแบบที่ใช้เทคโน โลยีคาร์บอนต่ำ 4.การใช้พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นกรีนเทคโนโลยี 5.การใช้เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (CCS) เหมือนกับสหรัฐฯ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ก็ได้ใช้ 5 แนวทางนี้เช่นกัน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ