ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่ง ปรับเกณฑ์เงินทุน ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กลางวิกฤติ FTX

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่ง ปรับเกณฑ์เงินทุน ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กลางวิกฤติ FTX

Date Time: 10 พ.ย. 2565 16:10 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็น ปรับปรุงเกณฑ์เงินทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เล็งให้ศูนย์ซื้อขายเพิ่มเงินทุนแรกเข้าเป็น 100 ล้านบาท ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดผันผวนหนักจากผลกระทบ FTX

Latest


ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็น ปรับปรุงเกณฑ์เงินทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เล็งให้ศูนย์ซื้อขายเพิ่มเงินทุนแรกเข้าเป็น 100 ล้านบาท จากเดิม 50 ล้านบาท พร้อมปรับปรุงอัตราดำรงเงินกองทุนใน hot wallet ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดผันผวนหนักจากผลกระทบ FTX 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงสัปดาห์นี้ประเด็นวิกฤติของ FTX แพลตฟอร์มเทรดคริปโต เบอร์ต้นของโลก ที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง จนถึงขั้นส่อล้มละลาย ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวมเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อคืนนี้ที่ถูก Binance ประกาศล้มดีลเข้าซื้อกิจการ หลังเข้าตรวจสอบสถานะกิจการ เหตุการณ์นี้ได้กดดันราคา Bitcoin ร่วงต่ำสุดในรอบ 2 ปี รวมถึงเหรียญอื่นๆ ในตลาดต่างพากันดิ่งลงเหวตามกันไปด้วย ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งถือเป็นอีกบทเรียนสำคัญของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

สำหรับในประเทศไทย ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้มีความพร้อมและมีเงินทุนเพียงพอรองรับการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มการคุ้มครองผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 มีมติเห็นชอบหลักการการปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ศูนย์ซื้อขาย นายหน้าซื้อขาย และผู้ค้า เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มการคุ้มครองผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญดังนี้

(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนแรกเข้าซึ่งเป็นทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้ว (paid-up capital) ให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจและปริมาณธุรกรรมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินทุนเพียงพอรองรับการลงทุนในระยะแรกเริ่มและการประกอบธุรกิจในระยะหนึ่ง รวมถึงสะท้อนความตั้งใจจริงในการประกอบธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบธุรกิจที่เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าประเภทศูนย์ซื้อขาย ให้เพิ่มเงินทุนแรกเข้าเป็น 100 ล้านบาท จากปัจจุบัน 50 ล้านบาท ประเภทนายหน้าซื้อขายเพิ่มเป็น 50 ล้านบาท จากปัจจุบัน 25 ล้านบาท และผู้ค้าเพิ่มเป็น 50 ล้านบาท จากปัจจุบัน 5 ล้านบาท

(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน (Net Capital) โดยกำหนดโครงสร้างเงินกองทุนตามความเสี่ยง (risk-based) เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินทุนเพียงพอรองรับการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สามารถชดเชยความเสียหายจากการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าและความเสี่ยงจากการให้บริการซื้อขายได้อย่างเหมาะสม เช่น ปรับปรุงอัตราการดำรงเงินกองทุนใน hot wallet ให้รองรับความเสี่ยงทั้งจำนวน และปรับปรุงอัตราการดำรงเงินกองทุนใน cold wallet ให้สะท้อนความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

(3) ปรับปรุงสัดส่วนการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ในกรณีที่เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้ามูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้เก็บรักษาใน hot wallet ได้ในสัดส่วนเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำรงสัดส่วนการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า โดยยังคงให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินทุนรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

(4) ปรับปรุงหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การดำเนินการเมื่อเงินกองทุนลดลงจนถึงระดับขั้นต่ำ (minimum requirement) และการยกเลิกหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนที่ไม่สอดคล้องในทางปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่กำหนดจะมีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีอยู่ก่อนแล้ว ให้ทยอยปรับเพิ่มทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้ว และปรับปรุงอัตราการดำรงเงินกองทุนใน hot wallet ให้ครบถ้วนตามที่กำหนดภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเวลาในการปรับตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเฮียริ่งดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย อ้างอิงตามมติของบอร์ดก.ล.ต.ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ