กกร.คงกรอบการเติบโตจีดีพีปีนี้ โต 3-3.5% หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้มีลุ้น 10 ล้านคน แต่ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังจีดีพีปีหน้าถูกปรับลดต่อเนื่อง จ่อชงรัฐ 4 แนวทางรับมือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขยับเพิ่ม ขณะที่ ส.อ.ท.เสนอรัฐให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ ลดหย่อนภาษีฯ พักชำระหนี้ 6 เดือนช่วยโรงงานถูกน้ำท่วม
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะเติบโตได้ 3-3.5% ส่งออกเติบโต 7-8% และเงินเฟ้อ 6-6.5% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามการปรับตัวที่ดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติใกล้เคียง 10 ล้านคน แต่ในระยะข้างหน้าจะต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และทบทวนการถอนนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“กกร.กังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะข้างหน้าเพราะจีดีพีของประเทศไทยในปีหน้า ได้ถูกปรับลดอย่างต่อเนื่อง จากความเสี่ยงต่างๆ ทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การทยอยลดบทบาทนโยบายสนับสนุนทางเศรษฐกิจเพื่อให้เข้าสู่จุดสมดุลทำให้ไทยมีแรงส่งน้อยกว่าที่คาดไว้ การทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย การปรับขึ้นเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินสู่ภาวะปกติ 1 ม.ค.ปีหน้า”
นอกจากนี้ กกร.ยังได้มีการหารือประเด็น การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2564 ซึ่งจะทำให้ราคาประเมินใหม่รอบปี 2566-2569 ทั้งประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8% ที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะครบกำหนด 3 ปีที่ต้องเพิ่มอัตราเก็บภาษีอีก 0.3% และกรุงเทพมหานครจ่อปรับอัตราเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมเต็มเพดาน 0.15% หรือเก็บเพิ่ม 15 เท่า
นายสนั่นกล่าวว่า กกร.จะทำข้อเสนอถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ขอให้แก้ไขอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จที่ยังไม่ได้ขาย จากประเภทอื่นๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย 2.ขอให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในบริการสาธารณะและสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรรฯ และอาคารชุดที่ใช้ร่วมกันจากประเภทอื่นๆเป็นประเภทที่อยู่อาศัย 3.ปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อไปอีก 2 ปี (ปี 2566-2567) โดยเก็บแบบขั้นบันไดโดยปี 66 ขอลดหย่อน 75% 4.ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และดอกเบี้ยสำหรับผู้ค้างชำระในปี 2565 โดยให้ผ่อนชำระในปี 2566
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเติบโตของจีดีพีประเทศไทย จะต้องพึ่งการส่งออกเกือบ 70% ดังนั้น ข้อตกลงเขตการค้าเสรีจะเป็นเครื่องมือในการสร้างแต้มต่อให้กับไทย ซึ่งพบว่าคู่แข่งทางการค้า เช่น เวียดนาม มีการทำข้อตกลงดังกล่าวจำนวนที่มากกว่าไทยทำให้มีความได้เปรียบ กกร.จึงเห็นควรเร่งรัดให้ไทยเจรจาให้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจ ส.อ.ท.โพล ประจำเดือน ต.ค.ในหัวข้อ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่าผลกระทบของปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ 53.4% มีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วม ผู้บริหาร ส.อ.ท.จึงเสนอขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดย 67.6% อยากให้ภาครัฐออกมาตรการให้ผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 100% อีก 65.9% อยากให้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูดอกเบี้ยไม่เกิน 1% และมีการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน.