นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. ...ที่ผ่าน ครม.ได้ส่งมายังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และจะนำขึ้นสู่เว็บไซต์กลางของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อรับฟังความคิดเห็นโดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยเมื่อนำร่างฯกลับมาให้ ครม.พิจารณาทางกฤษฎีกา อาจจะมีความเห็นในประเด็น ระยะเวลาการลงทุนสั้นไปหรือยาวไป เงินทุนมากไปหรือน้อยเกินไป แต่ขึ้นอยู่กับ ครม.จะตัดสินอย่างไร “โดยปกติขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น ถ้ามีคนไม่เห็นด้วยมาก เราก็จะมีหนังสือตอบเป็นข้อสังเกต และนำเข้า ครม.อีกครั้ง ส่วนรัฐบาลจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย”
ทั้งนี้ หากมีการคัดค้านเยอะทางออกอาจจะเช่าระยะยาวได้หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ทำได้อยู่แล้ว ที่เรียกว่า ฟรีโฮล คือ มีกรรมสิทธิ์ หรือ รีทโฮล คือ เช่าระยะยาว ประมวลแพ่งและพาณิชย์ทำได้อยู่แล้ว ส่วนกฎหมายฉบับนี้ผู้เสนอกฎหมายระบุว่าเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่มีการย้ายฐานการผลิต ซึ่งร่างกฎกระทรวงฯฉบับใหม่ตรงกับวัตถุประสงค์มากขึ้นว่าต้องได้วีซ่าระยะยาว (LTR) ก่อน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องคัดกรอง ถึงจะยื่นขอซื้อที่ดินได้
“แม้จะแก้กฎกระทรวงส่วนนี้ก็ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อที่ดิน เพราะวิธีคิดของต่างชาติและคนไทยต่างกันคนไทยชอบระบบกรรมสิทธิ์ คนไทยชอบเป็นเจ้าของ แต่ฝรั่งชอบเช่าระยะยาว และกฎกระทรวงฯ ฉบับปี 45 ที่มีผู้ใช้สิทธิ์ซื้อที่ดิน 1 ไร่เพียง 8 คน เพราะไม่ได้ดึงดูด จึงไปแอบตั้งบริษัท ไปหาภรรยา-สามีคนไทยมาซื้อที่ดิน จึงควรเอาใต้ดินขึ้นมาไว้บนดิน และจำกัดสิทธิ์ ซึ่งที่ดินโอนไปไหนไม่ได้ ยกไปไหนไม่ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ต่างชาติซื้อ ปัญหาอยู่ที่แลนด์ลอร์ดคนไทย ถือที่ดินเป็นหมื่นๆ พันๆไร่ ทำไมไม่กระจายให้เป็นธรรม ต้องจัดการที่ต้นเหตุ ดีกว่าไปเล่นคำว่าขายชาติ”
ผู้สื่อข่าวรายว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รัฐมนตรี ได้เรียกนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ขึ้นหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยคาดว่าจะเป็นการหารือเรื่องร่างกฎกระทรวงดังกล่าว.