ปลดล็อกเบียร์-สุราพื้นบ้านเสรี “วิษณุ” ชี้แก้กฎกระทรวงได้ไม่ต้องแก้กฎหมาย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปลดล็อกเบียร์-สุราพื้นบ้านเสรี “วิษณุ” ชี้แก้กฎกระทรวงได้ไม่ต้องแก้กฎหมาย

Date Time: 2 พ.ย. 2565 07:18 น.

Summary

  • ครม.ปลดล็อก ให้ผลิตเบียร์-สุราพื้นบ้านเสรี ยกเลิกการกำหนดทุนจดทะเบียนสำหรับผู้ขอผลิตเบียร์ และยกเลิกกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ครม.ปลดล็อก ให้ผลิตเบียร์-สุราพื้นบ้านเสรี ยกเลิกการกำหนดทุนจดทะเบียนสำหรับผู้ขอผลิตเบียร์ และยกเลิกกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ สุรากลั่นหรือสุราพื้นบ้านให้เพิ่มกำลังการผลิตจาก 5 แรงม้า เป็น 50 แรงม้า “วิษณุ” ชี้ไม่ได้ปาดหน้าพรรคก้าวไกล ออกเป็นกฎกระทรวงได้ต้องออกกฎหมายใหม่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. ...เป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 พร้อมเปิดโอกาสให้การผลิตสุราดำเนินการได้ง่ายขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก โดยปลดล็อกทั้งในเรื่องทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตขั้นต่ำ ยกระดับสุราชุมชนจากขนาดเล็กไปสู่ขนาดกลาง ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการนำสินค้าเกษตรมาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตให้ความสำคัญต่อมาตรฐานความปลอดภัย สาธารณสุข สังคม สิ่งแวดล้อม จึงมีกรอบปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและผลกระทบตามมา

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ร่างกฎกระทรวงการอนุญาต ผลิตสุรา พ.ศ. ...เป็นการปรับปรุงแก้ไขใบอนุญาต ซึ่งเดิมมีการกำหนดใบอนุญาต 2 ประเภท คือ การผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ และสุรากลั่นชุมชน โดยในส่วนของสุราแช่หรือเบียร์ เป็นการยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนสำหรับผู้ขออนุญาต ซึ่งเดิมกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ ระหว่าง 100,000-1,000,000 ลิตรต่อปี แต่ต้องเป็นโรงงาน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือใช้เครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ที่มีมาตรฐาน

“การแก้กฎหมายครั้งนี้จะทำให้เบียร์ที่เป็นบริวผับหรือเบียร์โรงเล็ก ต่อไปนี้ไม่ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และไม่ต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ แต่จะมีมาตรการเรื่องระเบียบของกรมโรงงานบางส่วน ทั้งสินค้า และเครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องกำหนดไว้ตามกฎหมาย และอยู่ภายใต้การดูแลของกรมควบคุมมลพิษ”

ส่วนสุรากลั่นหรือสุราชุมชนที่ได้รับใบอนุญาต ผลิตสุรามาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และไม่มีประวัติการกระทำความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตครบหนึ่งปี สามารถขออนุญาตเป็นโรงอุตสาหกรรม จากเดิมที่มีกำลังการผลิต 5 แรงม้า ให้เพิ่มเป็นไม่เกิน 50 แรงม้า และจากเดิมกำลังคนไม่เกิน 7 คน ให้ขยายกำลังคนไม่เกิน 50 คน

“กฎหมายที่ปรับแก้ไขจะเป็นการปลดล็อกกรณีที่เป็นการค้า ส่วนกรณีที่ไม่ใช่การค้า กรมฯ อนุญาตให้ผลิตได้ เช่น ทำเอง ดื่มเองภายในครัวเรือน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือต้องขออนุญาตกรมฯ โดยมีกำลังการผลิตไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี ผู้ผลิตต้องบรรลุนิติภาวะ 20 ปีบริบูรณ์ และเมื่อผลิตเสร็จแล้วต้องให้กรมฯตรวจสอบคุณภาพก่อน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565 ครม. ได้พิจารณาข้อสังเกตและผลการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ซึ่งนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ ซึ่ง ครม.ขอรับมาพิจารณา จากนั้นเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด และเพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ผลิตสุราที่ได้มาตรฐานเป็นรายกรณี จึงให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ตึงเกินไปทำอะไรก็ไม่ได้ จึงคิดกันว่าจะทำให้หย่อนลง และที่ผ่านมาพรรคก้าวไกล เสนอกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องสุราเข้าสภาฯ ซึ่งสภาฯรับหลักการไป แต่เมื่อมาดูพบว่า พ.ร.บ.ภาษีสรรพ สามิต พ.ศ.2560 ตึง แต่กฎหมายของฝ่ายค้านหย่อน การหย่อนในที่นี้คือจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และกระทบกับภาษีรายได้ของประเทศ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะพบกันครึ่งทาง ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงมีข้อแนะนำว่า ไม่ต้องเดือดร้อนออกเป็น พ.ร.บ. แต่ออกเป็นกฎกระทรวงได้ โดยกฎกระทรวงนี้จะหย่อนลง เกือบจะเท่ากับพรรคก้าวไกลเสนอ

“เรื่องนี้ไม่ใช่การชิงไหวชิงพริบตัดหน้าสภาฯอะไร แต่ต้องการให้มีกฎเกณฑ์เพื่อผ่อนปรนให้ผลิตสุรา โดยเฉพาะสุราที่ไม่ได้มีเพื่อการค้าให้สามารถทำได้ โดยเฉพาะสุราพื้นบ้าน เพราะ ครม.เห็นว่าเป็นการรักษาภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 2 นี้ ไม่ทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง และไม่ต้องขออนุญาตให้วุ่นวายและเป็นภาระแก่ประชาชน และจะมีผลบังคับใช้ หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ