ใกล้เทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จึงสั่งการให้แต่ละกระทรวงไปจัดทำแผนงานต่างๆ เพื่อให้ “รัฐบาลแจกของขวัญปีใหม่ 2566”
โดยนอกจากแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และหวังผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตรา 3.4% ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดหวังไว้
ในส่วนของกระทรวงการคลัง มาตรการที่เห็นผลและจับต้องได้ คือ โครงการ “คนละครึ่ง” เพราะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท เป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก มีประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการมากถึง 26-27 ล้านคน
โครงการคนละครึ่งนั้น พูดง่ายๆ คือ รัฐให้ชาวบ้านมาช่วยหารครึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบวัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง เมื่อประชาชนร่วมจ่าย ก็จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่หากประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย เม็ดเงินก็จะหายไปจากสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็จะกระทบเศรษฐกิจในประเทศอย่างมาก
ถือว่าโครงการคนละครึ่ง ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว!! อาทิ รัฐบาลมีฐานข้อมูลผู้ใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง ถุงเงิน มากกว่า 40 ล้านคน ซึ่งสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อยอดกำหนดนโยบายรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย, มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ,ทำให้ร้านค้าเข้าสู่ระบบ เข้าถึงแหล่งทุน, และการนำประชาชนเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด, การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ตามนโยบายประเทศไทย 4.0
ทั้งนี้ สรุปข้อมูลคนละครึ่งที่ผ่านมา ดังนี้ ระยะที่ 1-2 วงเงิน 3,500 บาท วันที่ 23 ต.ค.63-31 มี.ค.64 มีประชาชนใช้สิทธิ 14.76 ล้านคน มีร้านค้าร่วมโครงการ 1.14 ล้านราย ยอดใช้จ่ายรวม 102,065 ล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนจ่าย 52,251 ล้านบาท ภาครัฐร่วมจ่าย 49,814 ล้านบาท
ระยะที่ 3 วงเงิน 4,500 บาท วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.64 มีประชาชนใช้สิทธิ 26.35 ล้านคน มีร้านค้าร่วมโครงการ 1.31 ล้านราย ยอดใช้จ่ายรวม 223,922 ล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนจ่าย 113,936 ล้านบาท ภาครัฐร่วมจ่าย 109,986 ล้านบาท
ระยะที่ 4 วงเงิน 1,200 บาท วันที่ 1 ก.พ.-30 เม.ย.65 มีประชาชนใช้สิทธิ 26.27 ล้านคน มีร้านค้าร่วมโครงการ 1.36 ล้านราย ยอดใช้จ่ายรวม 61,835 ล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนจ่าย 31,491 ล้านบาท ภาครัฐร่วมจ่าย 30,344 ล้านบาท
ระยะที่ 5 วงเงิน 800 บาท วันที่ 1 ก.ย.-31 ต.ค.65 มีประชาชนใช้สิทธิ 24.02 ล้านคน มีร้านค้าร่วมโครงการ 970,000 ราย ยอดใช้จ่ายรวม 36,022 ล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนจ่าย 18,343 ล้านบาท ภาครัฐร่วมจ่าย 17,678 ล้านบาท
สิริรวมโครงการคนละครึ่ง สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจมากกว่า 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐ ใช้เงินงบประมาณไปราว 207,792 ล้านบาท ส่วนประชาชนจ่ายร่วม 216,021 ล้านบาท
ดังนั้น เมื่อโครงการคนละครึ่งประสบความสำเร็จ และได้ประโยชน์หลายต่อ ขณะที่ผลโพลจากหลายสำนักต่างออกมาระบุว่า ประชาชนชื่นชอบ และร้านค้ารายย่อยก็ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนแล้ว ยังช่วยเพิ่มยอดขายได้ด้วย
โดยร้านค้ารายย่อยตามตลาดนัด ที่ไม่ได้กังวลใจต้องเข้าสู่ระบบภาษี ก็เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการคนละครึ่งอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วยกระตุ้นยอดขาย ส่วนร้านค้าขนาดใหญ่ กังวลใจต้องเข้าสู่ระบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อันเนื่องจากมียอดขายและรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ก็ถอนตัวออกไป ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนร้านค้าที่เริ่มแรกของโครงการมีมากกว่า 1 ล้านราย แต่หลังจากนั้นค่อยๆทยอยลดลง จนมาระยะที่ 5 ลดลงเหลือ 970,000 ราย
นอกจากเหตุผลไม่ต้องการเข้าสู่ระบบภาษีแล้ว ยังเป็นเพราะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ร้านอาหารขนาดใหญ่กลับมาเปิดร้านให้บริการนั่งทานในร้านได้ ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินรัฐ เหมือนช่วงวิกฤติโควิด ที่ทั้งปิดร้าน ห้ามนั่งทานในร้าน ขายของไม่ได้ จึงจำเป็นต้องรับการเยียวยาจากภาครัฐ เพราะฉะนั้นจำนวนร้านค้าที่ลดลง ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม และทยอยลดการช่วยเหลือลงเรื่อยๆ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติโควิด ทุกคนได้รับผลกระทบ รัฐก็ต้องหามาตรการเยียวยาลดผลกระทบให้ทุกกลุ่ม แต่เมื่อวิกฤติเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น มาตรการเยียวยา ก็ต้องค่อยๆลดลง และเน้นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ตรงกลุ่มเป้าหมาย จะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจประเทศในอนาคต และหันมาอำนวยความสะดวกในด้านอื่นๆ เพื่อให้เอกชน ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น
สำหรับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ที่ถอนตัวออกไปนั้น ก็ขึ้นอยู่กับร้านค้า เพราะภาครัฐไม่ได้บังคับ ซึ่งภาครัฐได้ย้ำมาตลอดว่า เมื่อมีรายได้เกินเกณฑ์การเสียภาษี ก็ต้องเสียภาษีให้ภาครัฐด้วย เพราะภาษีที่จัดเก็บได้ก็นำไปพัฒนาประเทศ และนำมาเยียวยาลดผลกระทบในห้วงเวลาของการเกิดวิกฤติ
ส่วนคนละครึ่งเฟส 6 จะกำหนดวงเงินเท่าใดนั้น ขอเวลากระทรวงการคลัง พิจารณารายละเอียดก่อน คาดว่าจะมีข้อสรุปเร็วๆนี้
ขณะที่มาตรการอื่นๆที่จะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยนั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย!!!
ดวงพร อุดมทิพย์