“พลังงาน” เตรียมชง กพช.เดือน พ.ย.นี้ ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงานเป็นของขวัญปีใหม่มอบให้คนไทย พร้อมกางแผนตรึงค่าไฟฟ้างวดแรกปี 66 (ม.ค.-เม.ย.) อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย แย้มดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย และ 500 หน่วยต่อไป
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนา เรื่อง “หาทางออกฝ่าวิกฤติพลังงานโลก” ที่จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าวกรุงเทพฯ ว่า กระทรวงพลังงานเตรียม จัดทำของขวัญปีใหม่ให้คนไทย โดยจะเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือน พ.ย.นี้ พิจารณาทั้งเรื่องของ ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งในส่วนของค่าไฟฟ้าทั้งค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) และค่าไฟฟ้าฐาน ก็ยืนยันว่าจะดูแลกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย และ 500 หน่วยต่อเดือน ต่อไปเช่นเดิม รวมถึงจะมีมาตรการเสริมสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
“ผมได้เตรียมมาตรการพยุงอัตราค่าเอฟทีและค่าไฟฟ้าฐาน ในไตรมาส 4 ปีนี้ ถึงไตรมาส 1 ของปี 66 ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 4.72 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยหากราคาแอลเอ็นจีสูงเกิน 25 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงไฟฟ้าเอกชน หันไปใช้น้ำมันดีเซลเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซฯ ซึ่งคาดว่า จะใช้น้ำมัน 200-300 ล้านลิตร”
นอกจากนี้ยังจะได้ให้ขยายระยะเวลาปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (ถ่านหิน) โรงที่ 8 ของ กฟผ.ในเร็วๆนี้ ให้ยืดอายุต่อไปอีก 2 ปี ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่ม 300 เมกะวัตต์ และยังมีแผนให้นำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงที่ 4 ที่ปลดระวางไปแล้วกลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีกครั้ง เพื่อให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีก 200 เมกะวัตต์ นอกจากนั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเร่งการผลิตก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งในประเทศ ทั้งการเร่งเพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณ และเพิ่มการผลิตก๊าซฯแหล่งอื่นๆ ตลอดจนการจัดซื้อก๊าซฯจากเมียนมาเพิ่มเติมทั้งแหล่งซอติกา และยาดานา รวมถึงซื้อก๊าซฯเพิ่มจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ MTJA อีกทั้ง การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาวเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันยังได้กำชับให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงเร่งส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) เพื่อลดการใช้น้ำมัน ซึ่งจากข้อมูล 9 เดือนแรก ของปีนี้ ยอดซื้อรถอีวีเพิ่ม 223% หรืออยู่ที่ 13,298 คัน และคณะกรรมการ (บอร์ด) อีวี กำลังจัดทำมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่อีวีในประเทศ เพื่อลดต้นทุนรถอีวี ให้ประชาชนเข้าถึงรถอีวีได้ง่ายขึ้น รวมถึงดูแลเรื่องของการจัดทำระบบชาร์จไฟฟ้าที่บ้านเพื่ออำนวยความสะดวก และ 3 การไฟฟ้า คือ กฟผ., การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็ได้เร่งประสานงานจัดทำเรื่องข้อมูลเชื่อมโยงการใช้แอปพลิเคชันรองรับการใช้งานรถอีวีที่หลากหลายยี่ห้อ ให้สามารถเชื่อมฐานข้อมูลทั้งระบบ และในช่วงกลางปี 66 กฟผ.จะเริ่มจัดทำระบบชำระค่าบริการชาร์จไฟฟ้าของรถอีวีที่ชำระร่วมกันได้
นอกจากนี้ กระทรวงยังได้เร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เข้าสู่ระบบตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ รวม 10,000 เมกะวัตต์ ที่จะมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ให้ได้ 6,000 เมกะวัตต์ และมีโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. อีก 2,700 เมกะวัตต์ ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น 10,000 เมกะวัตต์ในอนาคต ภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบส่งไฟฟ้าให้ทันสมัย ทำเรื่องสมาร์ทกริด และสมาร์ทมิเตอร์ให้พร้อมรองรับเรื่องของพลังงานหมุนเวียน และรถอีวี ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต.