ทรู-ดีแทคแยกทำธุรกิจโดยอิสระ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯหนังสือแจ้งมติ กสทช.ถึงมือแล้ว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทรู-ดีแทคแยกทำธุรกิจโดยอิสระ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯหนังสือแจ้งมติ กสทช.ถึงมือแล้ว

Date Time: 26 ต.ค. 2565 07:43 น.

Summary

  • หนังสือแจ้งมติ กสทช.รับทราบควบรวมกิจการถึงมือทรู-ดีแทคแล้ว ทั้ง 2 บริษัทเตรียมประเมินเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติอย่างละเอียด ยืนยันยังแยกทำธุรกิจอย่างอิสระ ด้านเทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทค

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

หนังสือแจ้งมติ กสทช.รับทราบควบรวมกิจการถึงมือทรู-ดีแทคแล้ว ทั้ง 2 บริษัทเตรียมประเมินเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติอย่างละเอียด ยืนยันยังแยกทำธุรกิจอย่างอิสระ ด้านเทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทค ตอกย้ำที่มั่นเอเชีย เผยการควบรวมทรู-ดีแทคมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯระบุ ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช.แล้วในวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ถึงมติที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 รับทราบการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค

ดีแทคระบุจะประเมินเงื่อนไขอย่างละเอียดและรายงานความคืบหน้าที่มีนัยสำคัญต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยทั้งสองบริษัทยังคงแยกกันอย่างอิสระในการดำเนินธุรกิจขององค์กรต่อไปตามปกติ ส่วนทรูระบุจะพิจารณาเงื่อนไขหรือมาตรการเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่เหมาะสมและการดำเนินการขั้นต่อไป โดยหากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการพิจารณาเงื่อนไขของ กสทช.ข้างต้น จะรายงานเพิ่มเติมต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

วันเดียวกัน นายเยอเกน โรสทริป รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า เทเลนอร์กรุ๊ปได้ประกาศจัดตั้ง “เทเลนอร์เอเชีย” เป็นองค์กรธุรกิจที่มีอิสระในการบริหารงานในระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น และมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ โดยเทเลนอร์เอเชียจะมีอำนาจเต็มในการดูแลและรับผิดชอบการดำเนินงานของธุรกิจในประเทศ ไทย บังกลาเทศ มาเลเซีย และปากีสถาน

“ทีมที่แข็งแกร่งของเราที่สำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ พร้อมจะสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจที่เราเข้าไปดำเนินงานและแสวงหาโอกาสในการสร้างพันธมิตรในระดับโครงสร้างใหม่ๆ รวมถึงการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ที่มีศักยภาพในอนาคต รากฐานของการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มเทเลนอร์ในเอเชีย”

ทั้งนี้ ตลาดในแต่ละประเทศจะมีทีมงานบริหารการลงทุน (Investment Management teams) เข้าไปดูแล ทีมเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสินทรัพย์ และเป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์ของเทเลนอร์ในฐานะกรรมการของแต่ละประเทศ

โดยในปี พ.ศ.2564 เทเลนอร์ เอเชีย ได้ลงนามในข้อตกลงควบรวมกิจการในประเทศมาเลเซียและไทย การควบรวมกิจการนี้ใหญ่ที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น การดำเนินธุรกิจของเทเลนอร์เอเชียจะประกอบด้วยบริษัทโทรคมนาคม ชั้นนำที่มีขนาดใหญ่ในตลาดเอเชียถึงสามแห่งเพื่อการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายกระแสเงินสด (cash flow) 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ.2568

โดยเทเลนอร์เอเชียจะให้ความสำคัญต่อการทำงานผนึกกำลังจากการควบรวมกิจการทั้งสองแห่งนี้ และสร้างโอกาสสูงสุดใน 3 ปัจจัยหลักคือ 1.เพิ่มการใช้งานมือถือและการใช้ดาต้าในบังกลาเทศ และปากีสถาน โดยมีผู้ใช้งานมากกว่า 150 ล้านรายใน 2 ประเทศนี้ที่ยังไม่มีอุปกรณ์มือถือ และ 50% ของฐานลูกค้าปัจจุบันสมัครใช้ บริการเสียงเท่านั้น 2.ขยายตลาดกลุ่มผู้ประกอบการ B2B (Business to Business) ส่วนแบ่งรายได้ในปัจจุบันของเทเลนอร์เอเชียจากส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 5% โดยมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยในช่วงเกิดโรคระบาดที่ผ่านมาภาพรวมของตลาดโทรคมนาคมในส่วนนี้ลดลง แต่รายได้ B2B ของเทเลนอร์เอเชียเพิ่มขึ้นประมาณ 10%

3. มุ่งสู่การเป็นมากกว่าเป็นผู้ให้บริการเชื่อมต่อมือถือ โดยจะเพิ่มบริการสำหรับลูกค้าในด้านต่างๆมากขึ้น เช่น ประกันภัย ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และบริการเกมต่างๆ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ