นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก สหพันธ รัฐรัสเซีย เปิดเผยถึงการส่งออกไทยไปรัสเซียว่า ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลงเป็นลำดับนับตั้งแต่รัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารกับยูเครนมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.65 โดยเดือน ส.ค.65 มีมูลค่า 61.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 32% เทียบเดือน ก.ค.65 แต่ยังลดลง 25.10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าดีขึ้นมาก หลังจากเดือน มี.ค.65 หดตัวรุนแรงถึง 73%, เดือน เม.ย.หดตัว 77%, เดือน พ.ค.หดตัว 65%, เดือน มิ.ย. หดตัว 53%, เดือน ก.ค.หดตัว 43% ส่วนช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 65 มีมูลค่า 400.31 ล้านเหรียญฯ ลดลง 35.43% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
“การหดตัวของการส่งออกไทยไปรัสเซียมีแนวโน้มชะลอตัวเป็นลำดับ น่าจะมีสาเหตุมาจากปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของรัสเซียทุเลาลง เพราะมีสายการเดินเรือใหม่ๆ ในแถบเอเชียเข้ามาให้บริการขนส่งสินค้าเข้า-ออกรัสเซียมากขึ้น ทดแทนสายการเดินเรือหลักของยุโรปที่ถอนตัวออกไป นอกจากนี้ ยังได้อานิสงส์จากเงินรูเบิลที่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยให้ต้นทุนสินค้านำเข้าไม่สูงเกินไป”
สำหรับในเดือน ส.ค.65 สินค้าส่งออกไทยไปรัสเซีย 10 อันดับแรก มีสัดส่วน 79.65% ของการส่งออกทั้งหมดไปรัสเซีย ขยายตัว 63.09% โดยมีสินค้า 8 รายการที่ขยายตัวเป็นบวก ได้แก่ เครื่องจักรและส่วนประกอบ, เม็ดพลาสติก, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, น้ำมันสำเร็จรูป, ข้าว, รองเท้าและชิ้นส่วน และปรุงรส ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบติดลบ เช่นเดียวกับรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เคยครองสัดส่วนมูลค่าส่งออกสูงสุดไม่ติด 1 ใน 10 และแทบส่งออกไม่ได้เลย เพราะมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและพันธมิตร มีเพียงส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ที่มีมูลค่า 0.4 ล้านเหรียญฯ
ส่วนช่วง 8 เดือน พบว่ากลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีความโดดเด่นมาก เพราะการส่งออกขยายตัวได้ดีในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก ล่าสุดมีสัดส่วนอยู่ที่ 70% ของการส่งออกจากไทย ลดลงจากปกติที่ 80% โดยสินค้าในกลุ่มนี้อยู่ในหมวดรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ.