ค่าไฟฟ้าอาจแพงอีก 2 ปี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ค่าไฟฟ้าอาจแพงอีก 2 ปี

Date Time: 22 ต.ค. 2565 06:59 น.

Summary

  • มีหนังสือชี้แจงจากฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ชี้แจงเนื้อหาบางส่วนในบทความเรื่อง “2 สาเหตุค่าไฟแพงที่ถูกปิดบัง”

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%


มีหนังสือชี้แจงจากฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ชี้แจงเนื้อหาบางส่วนในบทความเรื่อง “2 สาเหตุค่าไฟแพงที่ถูกปิดบัง” ฉบับวันจันทร์ที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ผมเขียนระบุว่า 1 ในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงมาจากการบริหารจัดการก๊าซในอ่าวไทยที่ผิดพลาดของ ปตท.สผ. โดยปัญหาการเปลี่ยนผ่านระหว่างกลุ่มเชฟรอน ผู้รับสัมปทานรายเก่า กับ ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานใหม่ ทำให้การผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยไม่ต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็น ไทยจึงต้องนำเข้า LNG ราคาสูงมาเสริมเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าบริหารก๊าซในอ่าวไทยได้ตามปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้า LNG ราคาแพงเพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ ค่าไฟก็จะถูกลงได้อีกมาก

ทาง ปตท.สผ.ได้ชี้แจงข้อมูลมาว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณที่ไม่ได้ตามแผนงาน ไม่ได้เกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของ ปตท.สผ. โดย ปตท.สผ.ได้เข้าร่วมประมูลแหล่งเอราวัณ เพื่อให้บริษัทไทยได้เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) แหล่งพลังงานที่สำคัญของประเทศด้วยตัวเอง ซึ่งพยายามหาวิธีลดต้นทุนการผลิตก๊าซธรรมชาติ และยื่นข้อเสนอในการประมูลด้วยราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ต่ำกว่าแหล่งอื่นๆในอ่าวไทย

ภายหลังชนะการประมูล บริษัทได้เตรียมแผนงานในการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่วงหน้า เพื่อเตรียมการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้อย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ ปตท.สผ. เข้าเป็นผู้ดำเนินการต่อในวันที่ 24 เม.ย.2565 ที่อัตราการผลิต 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC)

การดำเนินแผนงานล่วงหน้าดังกล่าวนั้น จะต้องใช้ระยะเวลา 2 ปี เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิต 8 แท่น ติดตั้งท่อส่งก๊าซและเรือติดตั้ง เชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิตและระบบต่างๆเข้าด้วยกัน และเจาะหลุมผลิตกว่า 100 หลุม ปตท.สผ.พยายามประสานงานกับ เชฟรอน มาโดยตลอด ในการขอเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับประชาชนและประเทศ แต่ ปตท.สผ.กลับไม่ได้รับความยินยอมให้เข้าพื้นที่ จนเกิดความล่าช้าจากแผนงานมาเป็นเวลากว่า 2 ปี ส่งผลให้แหล่งเอราวัณไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในอัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตามสัญญา PSC

ทั้งนี้ ปตท.สผ.พยายามลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด ด้วยการปรับแผนงานและดำเนินการในส่วนที่สามารถทำได้ เพื่อให้ได้รับการยินยอมเข้าพื้นที่ได้ จะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ในวันที่ 24 เม.ย.2565 ซึ่ง ปตท.สผ.เข้าเป็นผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณนั้น อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เชฟรอนส่งต่อไว้คือ 376 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ต่ำกว่าการผลิตในอัตราปกติที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเนื่องจากเชฟรอนหยุดการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติมาเป็นเวลานาน รวมถึงหยุดแท่นผลิตบางส่วน ประกอบกับการที่ไม่ยินยอมให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ตามแผน จึงส่งผลให้ระดับการผลิตของแหล่งเอราวัณลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือทำให้คนไทยและประเทศเสียประโยชน์ในการได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนถูกลง

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ ปตท.สผ.ได้เตรียมแผนรองรับในส่วนที่สามารถทำได้ โดยเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ในอ่าวไทยมาทดแทน รวมเป็นปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นประมาณ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ก็เป็นอย่างที่ผมเขียนนั่นแหละครับ ถ้าบริหารก๊าซในอ่าวไทยได้ตามปกติ ค่าไฟฟ้าจะถูกลงอีกมาก และจากข้อมูลที่ชี้แจงมา ปัญหาในการเข้าพื้นที่ทำให้การดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนงานประมาณ 2 ปี ก็คงหนีไม่พ้นต้องเจอค่าไฟแพงอีก 2 ปี.

ลมกรด


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ