จากกรณีเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดของประเทศไทย ทำให้บ้านเรือนประชาชน ทรัพย์สิน รวมถึงที่ดินทำกิน ได้รับความเสียหาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานภาครัฐเข้าช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว ดังนั้น ธนาคารหลายแห่งจึงออกมาตรการมาช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมดังกล่าว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็น การพักชำระหนี้ หรือปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อการฟื้นฟู เป็นต้น
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารมีมาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สามารถพักชำระหนี้เงินต้น โดยเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ย 10%-100% และกรณี Flat Rate ลดการชำระเงินงวด 50% ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
ขณะเดียวกัน ธนาคารฯ ยังให้ประชาชนที่ประสบภัยกู้เงินฉุกเฉินสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม/ภัยพิบัติ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.85 ต่อเดือน (Flat Rate) ชำระเงินเป็นรายเดือน 3-5 ปี โดยปลอดชำระเงินงวด 3 เดือนแรก
นอกจากนี้ ยังให้สินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ เพื่อซ่อมแชมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ถึง 100% ของราคาประเมิน โดยดอกเบี้ยปีที่ 1-3 = 3.49% (MRR-2.755%) และปีที่ 4 เป็นต้นไป - 4.99% ต่อปี (MRR-1.250%)
และ สินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 = 3.99% (MRR-2.255%) ปีที่ 2 = 4.99% (MRR-1.2559) ปีที่ 3 เป็นต้นไป = 5.745%
และ สินเชื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจของธนาคาร วงเงินกู้สูงสุด 10% ของวงเงินกู้เดิมแต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี โดยปลอดชำระเงินต้น 1 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.50% ปีที่ 2 เป็นต้นไป = MLR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยธนาคาร MRR = 6.245% และ MLR = 6.150% ต่อปี)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ GSB Contact Center โทร.1115 และที่ facebook : GSB Society
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ ออกมาตรการช่วยเหลือให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อมจากน้ำท่วม น้ำหลาก โดยออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไร นานสูงสุด 6 เดือน และยกเว้นค่าชดเชยผิดนัด นอกจากนี้ สำหรับประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยน้ำท่วม ธนาคารมีสินเชื่ออุปโภคบริโภคและเชื่อธุรกิจอัตรากำไรพิเศษด้วย
มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อของธนาคารที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ประสบภัยตามประกาศส่วนราชการ โดยให้ความช่วยเหลือครอบคลุมทั้งลูกค้าบุคคล ที่มีสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งแบบมีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน และลูกค้าธุรกิจที่มีสินเชื่อประเภทมีกำหนดระยะเวลา (Term Financing) ที่ได้รับผลกระทบทางตรง เช่น ที่อยู่อาศัย หรือสถานประกอบการได้รับความเสียหาย หรือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ธุรกิจ หรือคู่ค้าได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และส่งผลต่อธุรกิจหรือการดำรงชีพของลูกค้า
โดยธนาคารจะพิจารณาพักชำระหนี้เงินต้นไม่เกิน 6 เดือน ให้ชำระเฉพาะกำไรตามอัตราที่กำหนดในสัญญาปัจจุบัน สามารถขยายระยะเวลาสัญญาออกไปไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระ และยกเว้นค่าชดเชยผิดนัด (Late Charge) ที่เกิดขึ้นทั้งจำนวนจนถึงวันที่อนุมัติเข้าร่วมมาตรการ
สำหรับลูกค้าใหม่ประเภทบุคคลธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ธนาคารให้สินเชื่ออุปโภคบริโภคอัตรากำไรพิเศษ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัย สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อบ้านชายแดนใต้ สินเชื่อ MOU เป็นต้น
ลูกค้าใหม่ทั้งประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการ ธนาคารให้อัตรากำไรพิเศษสำหรับสินเชื่อธุรกิจ ได้แก่ โครงการสินเชื่อ SMEs Back to iBank โครงการสินเชื่อ iBank Small SMEs เป็นต้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ iBank Call Center 1302 หรือแชตทาง Messenger : Islamic Bank of Thailand - ibank (@ibank.th) และ Line : iBank 4 all (@ibank)
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ออก 7 มาตรการในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก “พายุโนรู” ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่อยู่ระหว่างการใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว(MRR -0.50%,MRR -1.00% หรือ MRR เป็นต้น) กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเอง หรือคู่สมรส ได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถขอลดเงินงวด 50% จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน
มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้ากู้ใหม่ หรือลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเอง หรือคู่สมรส ได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย
วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ย MRR -3.15% ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 3% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR - 0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง
มาตรการที่ 3 ลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 4 ลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้นเดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 5 ลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)
มาตรการที่ 6 ลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง และไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)
มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี
และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี
ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2565 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ G H Bank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ และติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Application : GHB ALL และเว็บไซต์ www.ghbank.co.th
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ออกมาตรการเร่งด่วน ช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จาก "พายุโนรู" ดังนี้
1. มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา ให้สิทธิ์พักชำระเงินต้นสูงสุด 6 เดือน สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน ต่ออายุโดยไม่ต้องชำระเงินต้น โดยพิจารณาแนวทางช่วยเหลือตามผลกระทบของผู้ประกอบการแต่ละราย สามารถติดต่อขอรับบริการตั้งแต่วันนี้ จนถึง 30 ธ.ค. 65
2. มาตรการเติมทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ ผ่านโครงการ “สินเชื่อ SMEs Re-Start” เปิดให้เอสเอ็มอีทุกประเภทธุรกิจ นำไปใช้ได้ทั้งเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี หรือ MLR-1.25% ผ่อนชำระนานสูงสุด 12 ปี พร้อมปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) สูงสุด 24 เดือนแรก
นอกจากนี้ ธนาคารยังกำหนดพื้นที่ช่วยเหลือผ่านมาตรการพักชำระหนี้ฯ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ใน 49 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน สุโขทัย ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อุทัยธานี สิงห์บุรี ปทุมธานี นนทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ตรัง สุรินทร์ ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา ปราจีนบุรี กรุงเทพมหานคร มุกดาหาร กำแพงเพชร สระบุรี อุบลราชธานี ชัยนาท พิจิตร อุตรดิตถ์ และพังงา ส่วนมาตรการเติมทุนฯ ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ติดต่อขอรับบริการได้ที่สาขา SME D Bank ทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357
ในส่วนของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรลูกค้า โดยมอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ออกเยี่ยมให้กำลังใจลูกค้า และมอบถุงยังชีพเบื้องต้น รวมถึงสำรวจข้อมูลความเสียหาย และผลกระทบจากอุทกภัย
โดยกรอบการดำเนินงานที่จะเข้าไปดูแลกรณีได้รับความเสียหาย ธ.ก.ส. จะผ่อนผันการช้าระหนี้ออกไปไม่เกิน 12 เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ และสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 เมื่อดำเนินการสำรวจพื้นที่การเกษตรแล้วพบว่ามีความเสียหายเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ธ.ก.ส. จะเร่งประสานงานส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชดเชยความเสียหายโดยเร็วต่อไป
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉิน เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น อัตราดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน เดือนที่ 7 คิ อัตราดอกเบี้ย MRR คือ 6.50% วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท
และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการท้าการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ปัจจุบัน MRR = 6.50)
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ไม่มีนโยบายจ่ายสินเชื่อผ่านสื่อโซเชียล หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งผู้
ที่สนใจสามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่เท่านั้น หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call Center 0-2555-0555
ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกมาตรการพิเศษบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากสถานกรณ์น้ำท่วม โดยพายุโซนร้อน "โนรู" ในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเปิดให้ยื่นขอพักชำระหนี้ ปรับลดดอกเบี้ย เพิ่มวงเงินพิเศษเพื่อเสริมสภาพคล่อง และยกเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ประสบอุทกภัย ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
สำหรับ มาตรการพิเศษ ที่ออกมาบรรเทาความเดือดร้อนและคลายความกังวลใจให้กับลูกค้าเอสเอ็มอี ผ่าน 5 มาตรการหลัก ได้แก่
1. พักชำระเงินต้น (Grace Period) สูงสุดนาน 6 เดือน
2. พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่เกิน 3 เดือน
3. ยกเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระ (อัตราดอกเบี้ยปกติ) สำหรับการผิดนัดชำระไม่เกิน 30 วัน
4. เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงิน Working Capital เดิม และไม่เกิน 10 ล้านบาท
5. วงเงินกู้สำหรับปรับปรุง ซ่อมแซม หรือซื้อทดแทนทรัพย์สินของกิจการที่เสียหายสูงสุด 20% ของวงเงินรวมเดิม สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี
สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ สามารถขอรับมาตรการช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 โดยมีเกณฑ์การพิจารณาขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละราย และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด โดยลงทะบียนขอรับมาตรการช่วยเหลือ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ที่ดูแลท่าน หรือ SCB Business Call Center 0-2722-2222
เรียบเรียง : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟฟิก : Jutaphun Sooksamphun