ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
หากเอ่ยถึงนโยบายเศรษฐกิจ คงชวนให้คิดไปถึงตัวเลขชี้วัดภาวะ ในภาพใหญ่ๆ อาทิ GDP เงินเฟ้อ งบประมาณ ภาษี ดุลการค้า อัตราแลกเปลี่ยน หรืออัตราดอกเบี้ย แต่เมื่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้รับอิทธิพลจากปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทันที หรือค่อยเป็นค่อยไป ทั้งพฤติกรรมการดำรงชีพ การใช้งานเทคโนโลยี การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการปรับตัวด้านสาธารณสุขหลังเกิดวิกฤติโควิด-19
นโยบายเศรษฐกิจที่จะตอบโจทย์พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอต่อความต้องการที่มีอยู่ไม่จำกัด จึงไม่อาจวิเคราะห์เพียงตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคได้อีกต่อไป แต่ต้องกำหนดเป้าหมายการพัฒนาการอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลง หรือที่ขออนุโลมเรียกรวมๆว่า นโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นกลไกหลัก
และวันนี้จึงขออนุญาตแลกเปลี่ยนตัวอย่างการขับเคลื่อนนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจที่ผู้เขียนมีโอกาสเรียนรู้อย่างใกล้ชิดตลอดช่วงสามปี ภายใต้คณะอนุกรรมการสภาพัฒน์ ด้านการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งตอบโจทย์ความทั่วถึงและยั่งยืนของไทย
ประเด็นแรกคือ การเพิ่มรายได้และการจ้างงานหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการสร้างองค์ความรู้ และการจัดทำ White Paper “แนวทางการปรับโครงสร้างตลาดแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ซึ่งถอดบทเรียนการหางานพร้อมพัฒนาทักษะของต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อน “แพลตฟอร์มไทยมีงานทำ” เป็นกลไกสร้างงานและเอื้อให้รัฐและเอกชนร่วมกันออกแบบมาตรการรักษาการจ้างงานรายย่อยและมาตรการ Co-payment ในช่วงวิกฤติ
โดยในวันที่ 14 ก.ย.65 ได้มีการลงนามความร่วมมือ 52 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะรวมในระบบ “E-Workforce Ecosystem” ที่ครอบคลุม E-portfolio ข้อมูลประวัติบุคคลและการประเมินทักษะ E-Coupon สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทักษะ Digital Credit Bank เชื่อมโยงภาคการศึกษา และ Job Matching จับคู่คนหางานและผู้ประกอบการ ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการแก้ปัญหาด้านกำลังคนอย่างครบวงจรในระยะยาว
ขณะที่การลดความเหลื่อมล้ำ ทำโดยส่งเสริมการออกแบบกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาทุนทางสังคมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประกอบการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 9 “ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคม ที่เพียงพอ เหมาะสม” รวมทั้ง สนับสนุนการต่อยอด Social Lab ส่งเสริมการเพาะปลูกตามหลักวิชาการ เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินผ่านระบบดิจิทัล และลดต้นทุนการกู้ยืมเงิน ด้วย Credit Scoring Model ร่วมกับ ธ.ก.ส. กรมการข้าว บจก.สฤก และ บจก. คิว บ็อคซ์ พอยท์ เพื่อใช้ติดตามการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคเกษตร
หัวใจของการทำงาน คือ การปิดช่องว่างการทำงานแบบแยกส่วน ระหว่างภาครัฐด้วยกัน และการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ได้สร้างโอกาสในการขับเคลื่อนผลการศึกษาจากผู้ดำเนินนโยบายและภาควิชาการทั้งรัฐและเอกชนให้เข้าถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจผ่านคณะกรรมการสภาพัฒน์ และ ครม.จนเกิดผลจริงเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติอย่างทันการในห้วงวิกฤติ และเป็นต้นแบบการทำงานเพื่อเดินหน้า ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย.