ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ในช่วงที่ผ่านมา กระแสดิจิทัลและแนวคิดเรื่องความยั่งยืนโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นกระแสชั่วคราวที่มาแล้วจบไป แต่เป็นกระแสที่ทำให้ทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงและผนวกในกระบวนการทำธุรกิจ การดำเนินชีวิต และการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกยุคใหม่ ซึ่งปัจจุบันไทยกำลังเผชิญความท้าทายด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะมิติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอพูดถึงเรื่องนี้ค่ะ
ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ไทยต้องเร่งดำเนินการ เพราะไทยมีความเสี่ยงด้านนี้สูงในหลายมิติ ทั้งด้านแรงงานที่กว่า 1 ใน 3 ของแรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตรที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะรายได้จากผลผลิตขึ้นกับสภาพอากาศ ขณะที่ German Watch ได้เผยแพร่รายงานดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกที่วัดผลกระทบทั้งต่อชีวิตมนุษย์จากจำนวนผู้เสียชีวิต ความเสียหายทางเศรษฐกิจ และจำนวนเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า การจัดอันดับล่าสุดในปี 2564 ไทยติดอันดับ 9 จากกว่า 180 ประเทศทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ด้านการผลิตของไทยกว่า 13% ของจีดีพีในภาคอุตสาหกรรม เป็นการผลิตในอุตสาหกรรมโลกเก่า ที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหภาพยุโรป ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง และการบังคับใช้กฎหมายหรือหลักเกณฑ์ในลักษณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีแผนการดำเนินงานด้านนี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
สำหรับไทย แม้ไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงด้านนี้สูง แต่การปรับตัวบางจุดในเรื่องนี้ถือว่ายังช้ากว่าประเทศอื่น สะท้อนจากความสามารถในการรับมือภัยธรรมชาติของไทยอยู่อันดับ 39 จาก 48 ประเทศ จากการจัดอันดับของ German Watch นอกจากนี้ แม้ธุรกิจขนาดใหญ่จะเริ่มปรับตัวไปบ้างแล้ว เห็นได้จากบริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิกดัชนี DJSI ซึ่งเป็นดัชนีหลักทรัพย์ของบริษัทที่ผ่านการประเมินการดำเนินธุรกิจของบริษัทตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ในภาพรวมยังต้องปรับตัวอีกมาก โดยเฉพาะ SMEs ที่มีเงินทุนไม่เพียงพอสายป่านสั้น และอาจยังต้องปรับตัวให้ผ่านวิกฤติโควิดก่อน จึงอาจยากที่จะปรับตัวในเรื่องนี้ ซึ่งในระยะต่อไป SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจขนาดใหญ่จะได้รับแรงกดดันให้ปรับตัวก่อน
ในการช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงนี้ แบงก์ชาติตระหนักถึง ความสำคัญของภาคการเงินที่จะช่วยจัดสรรเงินทุนให้แก่ภาคเศรษฐกิจ และจูงใจให้เกิดการปรับตัวได้ จึงได้ออกเอกสารทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อให้เห็นแนวทางที่จะสนับสนุนให้ภาคการเงินพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัวในเรื่องนี้ได้ โดยการทำหน้าที่ของภาคการเงินเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยสร้างผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด โดยจะทำไม่เร็วเกินไปจนภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวได้ไม่ทัน แต่ก็ต้องไม่ช้าเกินไป จนผลกระทบลุกลามจนไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้น การดำเนินการจึงต้องเหมาะสมกับบริบทของไทยและแต่ละภาคส่วน
อย่างไรก็ดี การจะขับเคลื่อนให้ภาคเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่นและเกิดผลสัมฤทธิ์ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานในระดับประเทศภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน ภาคธุรกิจต้องประเมินผลกระทบและปรับตัวให้ทันการณ์เพื่อที่จะสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ ขณะที่ประชาชนต้องตระหนักถึงผลกระทบ และทยอยปรับการใช้ชีวิต ทั้งหมดนี้จะช่วยให้การก้าวไปสู่เป้าหมายของประเทศทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เป็นไปอย่างราบรื่นค่ะ.