กองทุน กยศ. กังวลหารายได้หมุนเวียน เพื่อนำมาปล่อยกู้ต่อให้รุ่นน้อง หลังสภาผู้แทนราษฎร มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.กยศ. ให้การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาไม่มีดอกเบี้ย-ไม่มีค่าปรับผิดนัด เดินหน้าชี้แจงในที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป โดยล่าสุด มีผู้กู้ 3.5 ล้านคน ผิดนัดอยู่ 2.5 ล้านคน วงเงิน 90,000 ล้านบาท ด้าน “อาคม” สั่ง กยศ.หาแนวทางรองรับ ย้ำต้องให้ความสำคัญวินัยการเงิน เป็นหนี้ต้องจ่าย
จากกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภา เป็นประธานการประชุมสภาผู้แทน ราษฎร (ส.ส.) และมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ฉบับที่...ในวาระ 3 โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ ได้แก่ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแบบปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ย 0% ไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ และให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันทุกราย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการให้กู้ยืมและการชำระคืนสินเชื่อของ กยศ.ในปัจจุบัน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2564 ว่า ในฐานะ รมว.คลัง คงไม่ขอแสดงความเห็น เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว แต่ได้สั่งการให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไปศึกษาวิธีการบริหารจัดการเงินกองทุน เพื่อความพร้อมรองรับ กรณีร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา อย่างไร ก็ตาม ในขณะนี้ผ่านความเห็นชอบเพียงขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่ยังต้องรอการพิจารณาของวุฒิสภา (ส.ว.) ดังนั้น กยศ.ต้องเตรียมข้อมูล เพื่อชี้แจงต่อวุฒิสภาในลำดับต่อไป
“หากร่าง พ.ร.บ.กยศ.ที่ผ่านรัฐสภามีผลบังคับใช้ โดยไม่มีเก็บดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับ คิดเพียงเงินต้นคืนเท่านั้น ทาง กยศ.ก็ต้องปรับแผนการบริหารจัดการใหม่ รวมทั้งแผนบริหารเงินกองทุนในอนาคตตามร่างกฎหมายใหม่ ที่มีความแตกต่าง เพราะจะไม่มีรายได้จากดอกเบี้ยและค่าปรับ ที่นำมาบริหารจัดการองค์กรและใช้เป็นเงินหมุนเวียนเพื่อให้รุ่นต่อไปกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา จากเดิมที่จะมีรายได้ส่วนนี้มาเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ปล่อยกู้ต่อไป ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าในช่วงต่อไปจะไม่มีดอกเบี้ยและค่าปรับ แต่ผู้กู้ยืมเงินต้องมีวินัยการเงินในการชำระคืนเงินต้น เพื่อให้คนรุ่นต่อๆไปได้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาต่อ แม้ว่าจะมีการร่างกฎหมายใหม่ แต่วินัยทางการเงินของลูกหนี้ กยศ.จะต้องเหมือนเดิม ต้องชำระคืนเงินต้นตามกำหนด”
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุน กยศ. กล่าวว่า ในขณะนี้มีความเป็นห่วงว่า ผู้กู้เงิน กยศ.จะไม่มีวินัยการเงินในการชำระเงิน และหากกู้ยืมเงิน โดยไม่คิดดอกเบี้ยและไม่คิดค่าปรับ กยศ. ซึ่งเป็นกองทุนหมุนเวียนจะนำรายได้จากแหล่งใดมาปล่อยกู้ให้กับเด็กในรุ่นต่อไปได้ ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมา ไม่ได้หวังกำไรจากดอกเบี้ยและค่าปรับ แต่ กองทุน กยศ.ต้องบริหารจัดการเงินกองทุน เพื่อให้เด็กไทยที่ไม่มีทุนทรัพย์ ได้มีเงินทุนเรียน
“หากไม่มีค่าปรับ ไม่มีดอกเบี้ย จะมีเงินหมุนเวียนมาปล่อยกู้ได้อย่างไร และผู้กู้เงินจะคืนเงินต้นหรือไม่ ดังนั้น ขอไปพิจารณารายละเอียดของกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ก่อน ซึ่งตอนนี้กฎหมายยังอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา ยังมีเวลาพิจารณาและชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจ ถึงวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน กยศ.”
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.กยศ.ที่กระทรวงการคลัง ได้เสนอให้รัฐสภาพิจารณานั้น คือ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ค่าเบี้ยปรับไม่เกิน 1% ของวงเงินกู้ แต่เมื่อนำไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้ว อัตราดอกเบี้ย และค่าปรับเป็น 0%
ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. กล่าวว่า หากไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ อาจกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนให้ลดลง ซึ่งแต่ละปีกองทุนจะมีเงินจากเบี้ยปรับและดอกเบี้ยประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกนำมาใช้หมุนเวียนในการปล่อยกู้ให้กับรุ่นน้อง โดยที่กองทุนไม่ได้พึ่งพาเงินจากงบประมาณของรัฐมาตั้งปี 2561 ล่าสุดกองทุนปล่อยกู้อยู่ที่ 40,000 ล้านบาทต่อปี ได้รับการชำระคืนมาแล้ว 27,000 ล้านบาท
“ต้องรอดูกฎหมายว่าจะออกมาแนวทางไหน แล้ววางแผนการบริหารจัดการ เพื่อประเมินวงเงินที่มีอยู่ว่าจะดำเนินการปล่อยกู้ให้รุ่นน้องต่อไปอย่างไร โดยแต่ละปีที่ผ่านมา กยศ.ปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษารายใหม่ เฉลี่ยปีละ 40,000 ล้านบาท และมีการผ่อนชำระคืนปีละ 27,000-30,000 ล้านบาท ทำให้ กยศ.ปล่อยกู้ต่อเนื่องได้ ส่วนสถานะปัจจุบันมีผู้กู้ยืมเงิน กยศ. 6.28 ล้านคน คิดเป็นเงิน 690,000 ล้านบาท แบ่งเป็นชำระหนี้เสร็จสิ้น 1.66 ล้านคน 129,183 ล้านบาท อยู่ระหว่างการผ่อนชำระ 3,559,421 ราย 452,677 ล้านบาท อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 986,668 ราย คิดเป็นเงิน 114,398 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีผิดชำระหนี้ 2.5 ล้านคน คิดเป็นเงิน 90,000 ล้านบาท”.