นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า การมีตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (REC) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ประเทศและภาคธุรกิจมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งเป็นแต้มต่อในการดึงดูดลูกค้าและนักลงทุนที่ให้ความสำคัญด้าน ESG หรือความยั่งยืน ตลอดจนเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้พัฒนาโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการขายคาร์บอนเครดิต และผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากการขาย REC และยังเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางและพัฒนานวัตกรรมในการซื้อขายอีกด้วย
“หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ไทยต้องส่งเสริมเครื่องมือเหล่านี้ คือความตื่นตัวของบริษัทชั้นนำของโลก ที่ตั้งเป้าหมาย Net zero emission รวมถึงเป้าหมายการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) เห็นได้จากมีบริษัทที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม RE100 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 62 ที่มีเพียง 261 ราย ขยับสูงเป็น 378 รายในปัจจุบัน หรือโตเฉลี่ยปีละ 13% โดยพบว่าเป็นบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจในไทยไม่ต่ำกว่า 50 บริษัท ซึ่งจะทำให้มีความต้องการ REC ในไทยเพิ่มขึ้นด้วย”
ทั้งนี้ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของโลกจะโตสูงถึง 15 เท่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า และ 100 เท่าในปี 2593 โดยตลาดมี 2 รูปแบบ คือ 1.ภาคบังคับ 2.ภาคสมัครใจ ผู้ประกอบการที่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกจะซื้อคาร์บอนเครดิตทดแทนการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง ส่วนผู้ขายจะเป็นองค์กรที่ทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามมาตรฐาน โดยราคาคาร์บอนเครดิตแต่ละตลาดหรือแต่ละมาตรฐานจะต่างกัน ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตโลกอยู่ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันคาร์บอนฯ ขณะที่ราคาในไทยเฉลี่ยปี 65 อยู่ที่ 107 บาท หรือ 3 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนฯ.