นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าหลัง ครม.พิจารณาอนุมัติแนวทางการให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล และ บริหารจัดการสนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่า ตามขั้นตอนหลังจากที่ ทอท. และ ทย.ส่งความเห็นเพิ่มเติม เพื่อมาศึกษาให้รอบคอบ ก่อนเสนอรายงานกลับไปที่ ครม.อีกครั้งเพื่อทราบ โดย ทย. ได้คืนพื้นที่ 3 สนามบินกลับไปที่กรมธนารักษ์ และ ทอท.ขอเข้าไปใช้พื้นที่ทั้ง 3 สนามบินมาบริหารจัดการเองแทน ทย. รวมทั้งการจ่ายค่าบำรุงเข้ากองทุนอากาศยานให้กับ ทย.โดยคาดว่าต้นปี 66 ทอท.จะได้เข้าไปบริหารจัดการทั้ง 3 สนามบินได้แบบเบ็ดเสร็จ
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เผยว่า การรับมอบโอนท่าอากาศยานของ ทย. 3 แห่ง มาอยู่ในความรับผิดชอบ ทอท. เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) ซึ่งปัจจุบัน ทอท.มีท่าอากาศยานที่เป็นฮับอยู่แล้ว ได้แก่ ฮับภาคเหนือคือ สนามบินเชียงใหม่ ฮับภาคใต้คือ สนามบินภูเก็ต ฮับภาคกลางคือ สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งท่าอากาศยานต่างๆ นอกจากจะมีความแออัดบนภาคพื้นแล้ว ยังมีความแออัดบนห้วงอากาศที่ยากต่อการบริหารจัดการด้วย ดังนั้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารห้วงอากาศทางภาคอีสานที่ยังว่าง ทอท.จึงเห็นความเหมาะสมในการเข้าไปพัฒนาท่าอากาศยานในภาคอีสานให้เป็นฮับของประเทศเพิ่มเติม โดยอีสานเหนือคือ สนามบินอุดรธานี จะผลักดันให้ เป็นประตูเมือง (Gateway) ไปยังลาว ส่วนอีสานใต้คือ สนามบินบุรีรัมย์ จะผลักดันให้เป็น Gateway เชื่อมกัมพูชา ขณะที่ สนามบินกระบี่ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็นฮับภาคใต้ภายใต้สถานการณ์ที่สนามบินภูเก็ตจะกลับมารองรับ ผู้โดยสารเกินศักยภาพอีกครั้งหลังหมดวิกฤติโควิด
นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดี ทย. กล่าวว่า หลังรับมอบ 3 สนามบิน ทอท. จะเข้ามาสนับสนุนเงินเข้ากองทุนเพื่อให้ ทย. สามารถนำเงินมาพัฒนาสนามบินที่เหลือ ตาม พ.ร.บ.วินัย การเงินการคลังของรัฐ.