นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯเพิ่มเติม พ.ศ. 2565 เปิดเผยว่าสถานะของเงินกู้ตาม พ.ร.ก. 500,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินคงเหลืออยู่ประมาณ 37,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีรายการเสนอขอใช้เงินกู้เต็มวงเงินแล้ว แบ่งเป็นการเบิกค่ารักษาพยาบาลโควิด-19 ถึงเดือน มิ.ย.วงเงิน 27,000 ล้านบาท และค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยให้กับแพทย์และพยาบาลในการรักษาโควิด-19 ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ก.ย.นี้ หากมีวงเงินการขอเบิกจ่ายที่เกินจากเงินกู้ที่เหลือ จะเสนอของบประมาณจากงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปี 2566
“เท่ากับว่าเงินกู้ฯตาม พ.ร.ก.ที่เหลืออยู่นั้นหมดลงแล้ว ส่วนการเบิกจ่ายงบเงินกู้ที่ได้อนุมัติไปแล้วขณะนี้สามารถเบิกจ่ายไปได้ก้าวหน้าดีคือประมาณ 70% ของวงเงินที่อนุมัติไปแล้ว ส่วนการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือจะมีการเร่งรัดติดตามให้มีการเบิกจ่ายให้ได้ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.ปี 2565 รวมทั้งงบเงินกู้ที่ได้มีการอนุมัติให้ลงไปในโครงการระดับจังหวัด 5,000 กว่าล้านบาท ก็มีระบบการติดตามเบิกจ่ายของกรมบัญชีกลางสำหรับการติดตามการเบิกจ่ายแล้ว”
นายดนุชากล่าวว่า แนวทางการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล หน่วยงานที่ดูแลทางด้านเศรษฐกิจได้แก่ กระทรวงการคลัง สศช. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องมาหารือกันถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ โดยแนวทางคงไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากในภาพรวมแล้วเศรษฐกิจของประเทศยังสามารถที่จะเดินไปได้ แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับขึ้น รวมทั้งค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้น ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการในการส่งเสริมการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง.