รัฐวุ่นหางบอุดหนุนไม่ได้ กลุ่มเปราะบางเซ็งอาจเจอบิลค่าไฟแพง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัฐวุ่นหางบอุดหนุนไม่ได้ กลุ่มเปราะบางเซ็งอาจเจอบิลค่าไฟแพง

Date Time: 1 ก.ย. 2565 08:13 น.

Summary

  • “คลัง” จ่อขยายมาตรการลดภาษีดีเซลถึงสิ้นปี แบ่งเบาภาระค่าครองชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ดีเดย์ 1 ก.ย.ก๊าซหุงต้มขึ้นราคาอีก 1 บาทต่อ กก. เป็น 408 บาทต่อถัง

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“คลัง” จ่อขยายมาตรการลดภาษีดีเซลถึงสิ้นปี แบ่งเบาภาระค่าครองชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ดีเดย์ 1 ก.ย.ก๊าซหุงต้มขึ้นราคาอีก 1 บาทต่อ กก. เป็น 408 บาทต่อถัง ขณะที่ค่าไฟฟ้า หากมหาดไทยหาเงินจาก ครม.ไม่ได้ในเดือน ก.ย.นี้ ผู้ใช้ไฟอาจต้องจ่ายค่าไฟ 4.72 บาทต่อหน่วยล่วงหน้าไปก่อน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาการขยายอายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ออกไปถึงสิ้นปีนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน และช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศช่วงปลายปีนี้ ซึ่งวันที่ 1 ก.ย.นี้ จะเริ่มใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ให้ขยายตัวได้ 3%-3.5% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ส่วนอัตราเงินเฟ้อไทยจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 6% ดังนั้นมาตรการระยะสั้นที่จะนำมาใช้ในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้ เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน โดยรัฐบาลจะเข้าไปดูแลเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มรถรับจ้าง และกลุ่มมอเตอร์ไซต์รับจ้าง รวมทั้งกลุ่มแท็กซี่ ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี เป็นต้น

“ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 นี้ จะเริ่มมีการใช้จ่ายงบลงทุนตามงบประมาณปี 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีเม็ดเงินก้อนใหม่มาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้ ถึงแม้ปีนี้ยังเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ที่ 695,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 65 ซึ่งอยู่ที่ 700,000 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายที่กระทรวงการคลังได้ส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อจากนี้ ต้องขาดดุลลดลงอย่างต่อเนื่อง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายอายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ระหว่าง 1-3 บาท ต่อลิตร หากรัฐบาลปรับลดภาษีลิตรละ 1 บาท จะทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 1,900-2,000 ล้านบาทต่อเดือน และหากปรับลดลง 3 บาทต่อลิตร จะสูญเสียรายได้ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่หากคงอัตราปรับลดไว้ที่ 5 บาทต่อลิตรเช่นเดิม จะทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาทต่อเดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ได้ปรับขึ้นอีก 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน เป็นประธานอนุมัติ ส่งผลให้ก๊าซหุงต้ม ประเภทถังขนาด 15 กก. จะต้องปรับราคาขึ้นอีกถังละ 15 บาท ไปอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง โดยรัฐยังคงช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย.นี้

สำหรับในส่วนของราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เรื่องการของบกลาง 8,000 ล้านบาทที่
กบง.มีมติให้กระทรวงพลังงาน ไปหาของบประมาณมาจากรัฐบาล และเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดหางบดังกล่าว เพราะเป็นผู้ดูแลการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ว่าจะมีเข้ามาอุดหนุนส่วนลดค่าเอฟที ตามมาตรการช่วยเหลือประชาชน ผู้ใช้ไฟกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าเอฟทีได้ เมื่อใด ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถจัดหามาได้ ทำให้ค่าไฟฟ้างวดใหม่รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ยังจะต้องปรับตามค่าเอฟทีที่ปรับขึ้นเป็นอัตรา 93.43 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้าที่อยู่ที่ 68.66 สต.ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐาน จะส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้า ที่เรียกเก็บกับประชาชนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ที่ถือเป็นอัตราสูงสุดของประเทศไทย ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าตามบิลที่จะได้รับแจ้งมาในปลายเดือน ก.ย.ในอัตราใหม่ไปก่อน แต่เมื่อกระทรวงมหาดไทย ของบประมาณกลางจากคณะรัฐมนตรีได้ ทั้ง 2 การไฟฟ้า จึงจะนำมาจ่ายคืนให้ประชาชนต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ