นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เป็นผู้รับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยจะมีการศึกษาเพิ่มเติมตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอ เช่น ความเป็นไปได้ของโครงการ เปรียบเทียบกรณี ทย.และกรณีที่ ทอท.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร การคาดการณ์ประมาณการของผู้โดยสาร กรณี ทอท. เข้ามาดำเนินการ การประเมินแผนการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน, ประมาณการรายได้ รายจ่าย ผลตอบแทนทางการเงิน รวมถึงผลกระทบต่อ ทย.และ ทอท.หากแผนไม่เป็นไปตามเป้าหมายคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน ก่อนรายงาน ครม.อีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าเมื่อ 3 สนามบินไปอยู่ในความดูแลของ ทอท.แล้วจะช่วยเสริมศักยภาพพร้อมสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 40,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ สนามบินอุดรธานีจะมีบทบาทเป็นสนามบินหลัก หรือ Gateway ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่ง ทอท.มีแนวทางการพัฒนาให้สนามบินอุดรธานีเป็นท่าอากาศยานระดับภาค และท่าอากาศยานศูนย์กลางรองในอนาคต โดยจะพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงร่วมกับสนามบินบุรีรัมย์ รองรับนโยบายสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง ส่วนสนามบินกระบี่ เนื่องจากจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ตั้งอยู่กึ่งกลางของจังหวัดฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย สามารถตอบสนองนโยบายด้านการท่องเที่ยวได้ และจะช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดของสนามบินภูเก็ตที่มีข้อจำกัดในการขยาย
“ทอท.ได้กำหนดแผนพัฒนาสนามบินทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุน 9,199.90 ล้านบาท (กรณีสนามบินพังงา เปิดให้บริการในปี 74) หรือวงเงินรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีสนามบินพังงาไม่เปิดให้บริการ) แยกเป็นสนามบินอุดรธานี 3,523 ล้านบาท สนามบินบุรีรัมย์ 460 ล้านบาท ส่วนสนามบินกระบี่ กรณีสนามบินพังงา เปิดให้บริการในปี 74 วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 5,216 ล้านบาท และสนามบินพังงาไม่เปิดให้บริการจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท”.