กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยเดือนก.ค. 65 พบธุรกิจเลิกกิจการ 1,543 ราย มีทุนต่ำกว่า 1 ล้าน ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ เจ๊งระนาว
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 65 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศในเดือนก.ค. 65 จำนวน 5,858 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 29,111.36 ล้านบาท
โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 518 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 343 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 268 ราย คิดเป็น 4% ตามลำดับ
สำหรับธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,060 ราย คิดเป็น 69.31% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 1,700 ราย คิดเป็น 29.02% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 77 ราย คิดเป็น 1.31% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 21 ราย คิดเป็น 0.36% ตามลำดับ
นายทศพล กล่าวอีกว่า จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ประจำเดือน ก.ค. 65 มีจำนวน 1,543 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการจำนวน 7,148.05 ล้านบาท
ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 151 ราย คิดเป็น 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 78 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 54 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ
ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 1,124 ราย คิดเป็น 72.85% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 342 ราย คิดเป็น 22.16% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 65 ราย คิดเป็น 4.21% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 12 ราย คิดเป็น 0.78% ตามลำดับ
สำหรับธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ก.ค. 65) ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 846,797 ราย มูลค่าทุน 20.32 ล้านล้านบาท จำแนกเป็น
1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 203,402 ราย คิดเป็น 24.02%
2. บริษัทจำกัด จำนวน 642,036 ราย คิดเป็น 75.82%
3. บริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,359 ราย คิดเป็น 0.16% ตามลำดับ
ส่วนธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 501,851 ราย คิดเป็น 59.26% รวมมูลค่าทุน 0.44 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.17% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 252,524 ราย คิดเป็น 29.82% รวมมูลค่าทุน 0.85 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.20%
ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 75,424 ราย คิดเป็น 8.91% รวมมูลค่าทุน 2.07 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.17% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 16,998 ราย คิดเป็น 2.01% รวมมูลค่าทุน 16.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.46% ตามลำดับ
นายทศพล กล่าวอีกว่า เดือนก.ค. 65 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 39 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 23 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,675 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นผลให้ในปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น จำนวน 323 ราย เพิ่มขึ้น 16% เงินลงทุน 73,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.- ก.ค. 64)
ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด 3 สัญชาติแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 11 ราย เงินลงทุน 2,734 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 91 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา จำนวน 5 ราย เงินลงทุน 330 ล้านบาท