“มาม่า” ไม่พอใจแต่รับได้ พาณิชย์ไฟเขียวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้น 1 บาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“มาม่า” ไม่พอใจแต่รับได้ พาณิชย์ไฟเขียวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้น 1 บาท

Date Time: 25 ส.ค. 2565 05:50 น.

Summary

  • กรมการค้าภายในไฟเขียว “มาม่า–ไวไว–ยำยำ” ขึ้นราคาขายไม่เกินซองละ 1 บาท มีผล 25 ส.ค.นี้ ภายใต้เงื่อนไข ถ้าต้นทุนลด ต้องลดราคาขายด้วย ไม่เช่นนั้น มีความผิดฐานขายสินค้าแพงเกินสมควร

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

กรมการค้าภายในไฟเขียว “มาม่า–ไวไว–ยำยำ” ขึ้นราคาขายไม่เกินซองละ 1 บาท มีผล 25 ส.ค.นี้ ภายใต้เงื่อนไข ถ้าต้นทุนลด ต้องลดราคาขายด้วย ไม่เช่นนั้น มีความผิดฐานขายสินค้าแพงเกินสมควร พร้อมสั่งให้ส่งข้อมูลซื้อวัตถุดิบให้ด้วย ส่วน “นิชชัน” พิจารณาคิวต่อไป ขณะที่ผู้ผลิตยังไม่พอใจให้ขึ้นแค่บาทเดียว แต่ดีกว่าไม่ได้ขึ้น ยันไม่ลดไซส์ ลดคุณภาพแน่นอน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 ราย คือแบรนด์มาม่า ไวไว และยำยำ เพื่อพิจารณาการปรับขึ้นราคาขายว่า กรมได้พิจารณาอนุมัติให้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 รายภายใต้แบรนด์มาม่า ไวไว และยำยำ ปรับขึ้นราคาขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองมาตรฐานได้ซองละ 1 บาท จากซองละ 6 บาท เป็นซองละ 7 บาท ไม่ได้ให้ขึ้น 2 บาทตามที่ขอมา โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.65 เป็นต้นไป หลังจากพิจารณาโครงสร้างต้นทุนของผู้ผลิตอย่างละเอียดแล้ว พบว่าต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้นมากจริง ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ คือ แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม พลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์, ต้นทุนค่าแรง, ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟ

“ราคาที่ผู้ผลิตที่ยื่นขอมาซองละ 8 บาท จากเดิมซองละ 6 บาท ถือว่าสูงไป จึงอนุมัติให้ขึ้นได้ไม่เกินซองละ 1 บาท หรือสูงสุดไม่เกินซองละ 7 บาท เพราะต้องคำนึงถึงพี่น้องประชาชนภายใต้นโยบาย วิน-วิน โมเดล ที่ผู้ผลิตอยู่ได้ผลิตต่อได้ และประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป”

แต่การปรับขึ้นราคาครั้งนี้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า หากต้นทุนต่างๆลดลง ผู้ผลิตจะต้อง ปรับลดราคาขายลงด้วย โดยผู้ผลิตจะต้องจัดส่งข้อมูลการจัดซื้อวัตถุดิบมาให้กรมทุกเดือน เพื่อให้ติดตามสถานการณ์ราคาวัตถุดิบได้อย่างใกล้ชิด หากพบว่าราคาวัตถุดิบลดลง ต้นทุนต่างๆ ลดลง กรมจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ผลิตปรับลดราคาขายลงให้สอดคล้องกัน หากไม่ปรับลดราคา จะเข้าข่ายขายสินค้าแพงเกินสมควร มีโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มาตรา 26 และ 29

สำหรับอีก 2 รายที่เหลือ คือ แบรนด์นิชชิน และซื่อสัตย์ จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์เดียวกัน ล่าสุดนิชชินได้ยื่นรายละเอียดต้นทุนเข้ามาครบถ้วนแล้ว กรมก็จะพิจารณาต่อไป ส่วนซื่อสัตย์ ยังไม่ได้ยื่นรายละเอียดเข้ามา

ด้านนายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า กล่าวว่า การอนุมัติให้ขึ้นราคาได้เพียงซองละ 1 บาท จากที่ขอไป 2 บาท ถือว่ายังไม่น่าพอใจ แต่ถ้ามองจากจุดที่ผู้ผลิตขอปรับราคามาตลอด 18 เดือน ก็ถือว่าดี เข้าใจว่าภาครัฐต้องดูแลประชาชนทั้งประเทศ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภาระค่าครองชีพที่จะเพิ่มขึ้น ถือว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ ผู้ผลิตยอมรับได้ ยังดีกว่าไม่ได้ปรับขึ้นเลย เพราะที่ผ่านมา มาม่าเกือบขาดทุน แต่ผู้ผลิตบางรายขาดทุนแล้ว

“การขึ้นราคาซองละ 1 บาท ยังไม่ครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ดีกว่าไม่ได้ขึ้นเลย และยืนยันว่า จะไม่ลดไซส์ และลดคุณภาพแน่นอน ส่วนที่ขอให้เราลดราคาขาย ถ้าต้นทุนลดลง เราก็ต้องยอม แต่ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก และการขึ้นราคาเพียง 1 บาท เรายังไม่ไหว ก็คงต้องยื่นเรื่อง ขอปรับขึ้นราคาอีก”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ