เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประจำปี 2565 พบคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน ขณะที่คนกรุงเทพฯติดหนักใช้วันละเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาที ส่วนอาชีพที่ใช้เน็ตมากที่สุดคือข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ใช้อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 37 นาทีต่อวัน
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย ประจำปี 2565 หรือ Thailand Internet User Behavior (IUB) 2022 ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 46,348 ราย ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ค.2565 พบว่าปีนี้ คน Gen Y (ช่วงอายุ 22-41 ปี) กลับมาครองแชมป์ ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุด 8 ชั่วโมง 55 นาทีต่อวัน แซงหน้า คน Gen Z (อายุน้อยกว่า 22ปี) อดีตแชมป์หนึ่งสมัย ที่ลงมาอันดับ 2 ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 24 นาทีต่อวัน ตามด้วยคน Gen X (ช่วงอายุ 42-57 ปี) 5 ชั่วโมง 52 นาทีต่อวัน และคนยุค Baby Boomers ขึ้นไป (ช่วงอายุ 58 ปีขึ้นไป) 3 ชั่วโมง21นาที
โดยในภาพรวมพบว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้อินเตอร์เน็ตสูงที่สุดถึง 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ใช้ไม่ต่างกันมาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 59 นาทีต่อวัน, 6ชั่วโมง 45 นาทีต่อวัน และ 6ชั่วโมง 17 นาทีต่อวัน ตามลำดับ ส่วนภาคใต้ใช้น้อยสุด เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ชั่วโมง 35 นาทีต่อวัน
แต่เมื่อพิจารณาตามอาชีพพบข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจ เนื่องจากข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐติดอันดับ1 ที่มีการใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นอยู่ที่ 11 ชั่วโมง 37 นาทีต่อวัน สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ รวมถึงความพร้อมของบุคลากรภาครัฐ ในการยกระดับการทำงานสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการทำงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Office มากขึ้นรองลงมาคือนักเรียน/นักศึกษา 8 ชั่วโมง 57 นาทีต่อวัน ฟรีแลนซ์ 7 ชั่วโมง 40 นาทีต่อวัน เจ้าของกิจการ ธุรกิจส่วนตัว 7 ชั่วโมง 29 นาทีต่อวัน และพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน 7 ชั่วโมง 6 นาทีต่อวัน เป็นต้น
ขณะที่ 10 กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิต ได้แก่ ปรึกษาและรับบริการทางการแพทย์ (จองคิว,ปรึกษาแพทย์) มากที่สุด 86.16% อาจเพราะสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้คนสนใจและหันมาจองคิวรับวัคซีน รองลงมาคือ เพื่อติดต่อสื่อสาร 65.70% ดูรายการโทรทัศน์/คลิป/ดูหนัง/ฟังเพลง 41.51% ดูถ่ายทอดสดเพื่อซื้อสินค้าและบริการ (Live Commerce) 34.10% ทำธุรกรรมทางการเงิน 31.29% อ่านโพสต์/ข่าว/บทความ/หนังสือออนไลน์ 29.51% รับ-ส่งอีเมล 26.62% ช็อปปิ้งออนไลน์ 24.55% ทำงาน/ประชุมออนไลน์ 20.67% และเล่นเกมออนไลน์ 18.75% ตามลำดับ
โดยประเด็นที่น่าจับตา คือ แม้กิจกรรมการดู Live Commerce จะเป็นกิจกรรมที่นำมาสำรวจในปีนี้เป็นปีแรก แต่กลับติด TOP 5 กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตที่คนไทยทำมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า Live Commerce เป็นอีก 1 กิจกรรมที่น่าจับตาว่าเป็นสิ่งที่คนไทยให้ความนิยมมากขึ้น
ส่วนคนในวัยที่ชอบช็อปปิ้งออนไลน์มากที่สุด เป็นคน Gen Y คิดเป็นสัดส่วน 88.36%รองลงมาคือ Gen X (84.55%) Gen Z (81.53%) Baby Boomers (74.04%) และ Gen Builders (52.30%) โดยประเภทสินค้าที่ Gen Y เลือกซื้อมากที่สุดคือ เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ มากที่สุด รองลงมาคือ เครื่องสำอาง โดยเหตุผลที่ซื้อสินค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่เลือกซื้อ เพราะราคาถูก 63.10% ความหลากหลายของสินค้า 58.73% แพลตฟอร์มใช้งานง่าย 45.81% การจัดโปรโมชัน เช่น 11.11, 12.12, Flash Sale ที่ 44.39% และค่าจัดส่งถูกหรือฟรี 34.10% โดยช่องทางที่คนไทยเลือกซื้อออนไลน์มากที่สุด คือ e-Marketplace (เช่น Shopee, Lazada, Kaidee) 75.99% รองลงมาคือ Facebook 61.51% Website 39.7% LINE 31.04% Instagram 12.95% และ Twitter 3.81%.