ครม.สั่งถอนฟ้อง! คืนเงินผู้สูงอายุ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.สั่งถอนฟ้อง! คืนเงินผู้สูงอายุ

Date Time: 24 ส.ค. 2565 07:54 น.

Summary

  • ครม. อนุมัติหลักการการ คืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 245,243,189.70 บาท (ข้อมูล ณ 1 มิ.ย.65)

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการการ คืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 245,243,189.70 บาท (ข้อมูล ณ 1 มิ.ย.65) พร้อมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และกระทรวงการคลัง หาแนวทางการจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น และได้นำเงินมาคืนให้ทางราชการ รวมทั้งแจ้งให้มีการถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่คณะ รัฐมนตรีมีมติ “การคืนเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุที่ได้นำเงินมาคืน ราชการแล้ว 28,345 รายนั้น เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน และต้องรีบดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอื่นๆที่จะตามมา เช่น ปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การขาดโอกาสเข้ารับการรักษาพยาบาล อย่างทันท่วงที ผู้สูงอายุเสียชีวิตและการร้องเรียนต่างๆด้วย”

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นผลจากช่วงที่ผ่านมาเกิดกรณีการเรียกเก็บเงินเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ทำให้ผู้สูงอายุกลัวว่าจะมีความผิด จึงได้นำเงินมาคืนราชการและได้รับความเดือดร้อน ขณะที่ข้อกฎหมายยังไม่ชัดเจน ดังนั้น กระทรวงการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงเสนอเรื่องมาให้ ครม.พิจารณาจ่ายเงินคืน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ มีคำวินิจฉัยว่าเงื่อนไขที่กำหนดว่าผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ เป็นเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ขณะที่การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการจ่ายเงินให้โดยชอบ ในกรณีที่ผู้สูงอายุนำเงินมาคืนราชการ หน่วยงานที่รับเงินไว้มีหน้าที่ต้อง จ่ายเงินคืนให้ผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรค 2 มีเพียง 2 ประการคือ อายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้ เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รัฐจะตรากฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ