ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้พิจารณาความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) โดยในประเด็นจัดทำกรอบการเจรจา รวมถึงข้อสงวน และข้อยืดหยุ่นของไทย และข้อผูกพันของความตกลงนั้น มีมติให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งทบทวนรายการข้อเสนอ ข้อยึดหยุ่น ระยะเวลาปรับตัว ข้อผูกพันต่างๆ โดยต้องหารือผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนให้ครอบคลุมและสมบูรณ์ภายใน 2 เดือน หรือในเดือน ต.ค.นี้ หลังจากที่ล่าช้ามานานนับปี และเสนอให้ กนศ. พิจารณาก่อนที่ กนศ.จะรายงานความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นอกจากนี้ ยังรับทราบการจัดตั้งกองทุนรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) ที่ ครม.เห็นชอบแล้ว และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเอฟทีเอ โดยจะเปิดประชาพิจารณ์เดือน ส.ค.นี้ ส่วนการชี้แจงข้อกังวลของภาคประชาสังคม สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข หารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน พร้อมทบทวนข้อสงวนและข้อยืดหยุ่นต่างๆด้วย
สำหรับการผลักดันให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีนั้น กนศ. และรัฐบาลมองว่าจะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าไม่เข้าร่วม จะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ในขณะที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมหรือไม่ และประโยชน์ที่จะได้รับ จะคุ้มค่ากับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ ประชาชน และประเทศหรือไม่ เพราะปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอกับสมาชิกซีพีทีพีพีแล้วถึง 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ บรูไน ชิลี มาเลเซีย เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม จากทั้งหมด 11 ประเทศ เว้นเพียงแคนาดา และเม็กซิโก แต่ขณะนี้อาเซียนกำลังเจรจาเอฟทีเอกับแคนาดา ดังนั้น สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดของ 10 ประเทศได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องเข้าซีพีทีพีพี นอกจากนี้ ไทยแทบไม่ได้เตรียมความพร้อม หรือปิดจุดอ่อนใดๆ โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่, จัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ที่จะทำให้ธุรกิจของสมาชิก เข้ามาประมูลงานภาครัฐของไทยได้ ทำให้เอสเอ็มอีไทยถูกต่างชาติแย่งงาน, ภาคเกษตร ที่จะยิ่งเสียเปรียบ เพราะขาดเทคโนโลยี และสินค้าเกษตรจากสมาชิกจะเข้ามาตีตลาดได้ ทำให้เกษตรกรไทยเสียหาย.