“ขสมก.” กู้เงินใช้จ่าย-ใช้หนี้ คมนาคมการันตี! ปีนี้คนกรุงได้นั่งรถเมล์อีวี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ขสมก.” กู้เงินใช้จ่าย-ใช้หนี้ คมนาคมการันตี! ปีนี้คนกรุงได้นั่งรถเมล์อีวี

Date Time: 19 ก.ค. 2565 05:08 น.

Summary

  • ครม.อนุมัติให้ ขสมก.กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 7,516 ล้านบาท รวมถึงชำระหนี้ค่าน้ำมันและค่าซ่อม พร้อมไฟเขียว กนอ.ร่วมลงทุนเอกชนรายเดิมพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด มูลค่า 3.2 พันล้านบาท

Latest

รู้จัก “หวย N3” คู่แข่งหวยใต้ดิน ความหวังใหม่รัฐบาล  ต้อนเงินเข้าระบบ 1 แสนล้านบาท เริ่มขาย 17 ต.ค

ครม.อนุมัติให้ ขสมก.กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 7,516 ล้านบาท รวมถึงชำระหนี้ค่าน้ำมันและค่าซ่อม พร้อมไฟเขียว กนอ.ร่วมลงทุนเอกชนรายเดิมพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด มูลค่า 3.2 พันล้านบาท ขณะที่ “ศักดิ์สยาม” เผยปีนี้คนกรุงได้นั่งรถเมล์อีวี 1 พันคัน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงคมนาคมติดตามการใช้รถเมล์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม รายงานว่า ภายในปี 65 จะมีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการ 1,000 คัน นอกจากนั้น นายกฯอยากเห็นการปรับโฉมรถตุ๊กๆไทยด้วย

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินประจำปีงบประมาณ 66 รวม 7,516 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า ขสมก.ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพราะผลประกอบการขาดทุนและไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง สาเหตุหลักมาจาก ขสมก.เก็บค่าโดยสารตามอัตราที่ภาครัฐกำหนด ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และไม่สามารถปรับขึ้นค่าโดยสารตามสภาวการณ์ปัจจุบันได้ จึงส่งผลให้มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน ภาระหนี้สินสะสม และดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ ขสมก.อยู่ระหว่างทบทวนร่างแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปรับปรุงใหม่ ทำให้ยังคงมีหนี้สินค้างชำระ 132,565 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขสมก.ได้จัดทำประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ในปีงบ ประมาณ 66 คาดจะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือ 42,640 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จึงต้องกู้เงิน 42,640 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระ และไถ่ถอนพันธบัตรเงินกู้ 35,123 ล้านบาท คงเหลือเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง และเป็นเงินสดหมุนเวียนในปีงบฯ 66 เพียง 7,516 ล้านบาท แบ่งเป็นชำระค่าเชื้อเพลิง 2,250 ล้านบาท ชำระค่าเหมาซ่อม 1,422 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่อง 3,844 ล้านบาท

ทั้งนี้ ขสมก. รายงานว่า การกู้เงินครั้งนี้จะประหยัดค่าดอกเบี้ยค้างชำระเมื่อเทียบกับกรณีไม่กู้เงินที่มีภาระดอกเบี้ยค่าเชื้อเพลิง 5.82% ต่อปี ค่าเหมาซ่อม 6.35% ต่อปี รวมดอกเบี้ยต้องชำระ 221.27 ล้านบาทต่อปี แต่หากกู้เงิน ต้นทุนดอกเบี้ยจะลดลงเหลือ 1.098% ต่อปี รวมดอกเบี้ยชำระ 40.324 ล้านบาท หรือประหยัด 180.95 ล้านบาท

ส่วน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำเนินโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะร่วมกับบริษัท ไทย คอนเน็คทิวิตี เทอมินอล จำกัด ตั้งอยู่ที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อขนถ่ายสินค้าทั่วไป มูลค่าโครงการ 3,221 ล้านบาท ซึ่งสัมปทานเดิมของบริษัทจะสิ้นสุดวันที่ 16 ก.ย.65 โดยการทำสัญญาใหม่นี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อพัฒนาท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ จากเดิมที่บริษัทให้บริการขนถ่ายสินค้าทั่วไปและสินค้าเทกอง

สำหรับการร่วมทุน PPP กนอ.จะมอบสิทธิให้เอกชนดำเนินโครงการและใช้ทรัพย์สินเดิม ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดย กนอ. ไม่ต้องลงทุนใดๆเพิ่มเติม ส่วนภาคเอกชนจะลงทุนทั้งหมด 2,257 ล้านบาท และเป็นผู้บริหารจัดการท่าเรือ รวมถึงจัดสรรผลตอบแทนให้ กนอ. คือ 1.ค่าเช่าพื้นที่ 2.ค่าตอบแทนคงที่ในปีแรก และเพิ่ม 5% ทุก 5 ปี 3.รายได้จากค่าภาระเรือเข้าท่าทั้งหมด (Port Dues) 4.ส่วนแบ่งรายได้จากการดำเนินกิจการ 5% (ไม่รวม Port Dues) เมื่อสิ้นสุดสัมปทาน ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนใหม่ให้ กนอ.ด้วย ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่าการต่อสัญญา 30 ปีให้เอกชนรายเดิม สภาพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ (สศช.) เห็นว่า กนอ.ควรพิจารณาแนวทางที่จะเปิดโอกาสให้เอกชนหลายรายร่วมยื่นข้อเสนอโครงการได้อย่างเป็นธรรม เพื่อให้ กนอ.ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าที่ประเมินไว้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ