ออกหุ้นกู้ กทม. ใช้ปลดหนี้ ชี้ทางออกสางปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ออกหุ้นกู้ กทม. ใช้ปลดหนี้ ชี้ทางออกสางปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว

Date Time: 18 ก.ค. 2565 05:07 น.

Summary

  • นักการเงินแนะผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ” ออกหุ้นกู้ระดมทุนจากคนกรุงเทพฯ เหตุงบประมาณไม่พอ จะได้เอาเงินไปแก้ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ไปจนถึงโครงการแก้น้ำท่วม ฟื้นฟูที่อยู่คนจนเมือง

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นักการเงินแนะผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ” ออกหุ้นกู้ระดมทุนจากคนกรุงเทพฯ เหตุงบประมาณไม่พอ จะได้เอาเงินไปแก้ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ไปจนถึงโครงการแก้น้ำท่วม ฟื้นฟูที่อยู่คนจนเมือง เชื่อมีคน กทม.ร่วมระดมทุนด้วยจำนวนมากเพื่อเชื่อมั่นในฝีมือ “ชัชชาติ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ว่า กทม.ไม่มีงบประมาณเพียงพอจะเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้สินของรถไฟฟ้าสีเขียว หรือซื้อโครงการนี้มาเป็นของ กทม.เพื่อบริหารจัดการให้สามารถ เก็บค่าโดยสารในราคาที่ประชาชนสามารถรับได้

ก็ปรากฏว่ามีนักการเงินทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนวาณิชธนกิจจำนวนไม่น้อยให้ความเห็นว่า เครดิตเรตติ้งของ กทม.ในฐานะองค์กรรัฐ จัดว่าอยู่ในระดับที่ดีพอและมีความเชื่อมั่นมากพอที่จะออกหุ้นกู้ระดมทุนเพื่อดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคและสาธารณประโยชน์แก่ประชาชนชาวกรุงเทพฯได้

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนซื้อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือสายอื่นๆมาทำให้ดี และเป็นประโยชน์มากที่สุดแก่คน กทม. หรือจะเป็นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การจัดการระบบการเก็บขยะ การฟื้นฟูที่อยู่อาศัยให้คนยากจนในเมือง ไปจนถึงการแก้ปัญหาระบบสายไฟและสายสื่อสาร ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดไฟไหม้ในหลายจุด

มีรายงานว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กทม.ได้ว่าจ้างบริษัท ทริส เรตติ้ง จำกัด ให้จัดอันดับเครดิตเรตติ้งของ กทม.ในฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษปีละครั้ง โดย กทม.เป็นเพียงองค์กรเดียวที่ขอให้มีการจัดดับความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกับองค์กรภาคเอกชน แต่มีความแตกต่าง เนื่องจาก กทม.มีอำนาจและความรับผิดชอบที่แตกต่างจากผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถในการตรากฎหมาย เทศบัญญัติ หรือระเบียบข้อบังคับต่างๆเพื่อใช้ภายในพื้นที่รับผิดชอบ

นอกจากนี้ กทม.ยังมีความสามารถในการกำหนดระดับของรายได้ (Tax authority) ที่จะได้รับในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าอำนาจในการกำหนดอัตราภาษี หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ อาจจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลซึ่งในกรณีของประเทศไทย อาจหมายรวมถึงคณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา กระนั้นก็ตาม ผู้รู้เกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับต่างๆให้ความเห็นว่า กทม.มีเทศบัญญัติที่ได้ทำคลอดออกมา แต่ยังไม่มีการบังคับใช้

สำหรับเครดิตเรตติ้ง กทม.ที่จัดทำไว้หลายปีติดต่อกันจนถึงปี พ.ศ.2558 อยู่ที่ระดับ “AA+” หรือแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตนี้สะท้อนถึงสถานภาพของ กทม.ในฐานะศูนย์กลางของเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ มีแหล่งรายได้ที่แน่นอนจากภาษีอากร การบริหารงบประมาณภายในนโยบายงบประมาณแบบสมดุล อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีปัจจัยหลายด้าน เช่น รายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น และภารกิจที่รับทอดจากรัฐบาลมา ทำให้เกิดการลดทอนความต้องการในการลงทุนอย่างมากโดยเฉพาะในด้านสาธารณูปโภค และระบบขนส่งมวลชน

ขณะเดียวกัน กทม.ยังมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งรายได้ใหม่ๆเพิ่มขึ้น รวมถึงการต้องติดตามการนำเสนองบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่เหมาะสม การบริหารจัดการหนี้สิน และการลงทุนซึ่งต้องดำเนินการให้มีความสอดคล้องกับระดับรายได้ และการพัฒนากรอบ วินัยการบริหารหนี้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนจากชาว กทม.นี้ อาจดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย 2-3% ให้แก่ผู้ลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนด “เดี๋ยวนี้ไม่มีใครต้องกู้เงินแบงก์ แล้วอยากลงทุนอะไร ก็ออกหุ้นกู้ได้หาก กทม.ตัดสินใจตามแนวทางนี้ รับรองว่าจะมีคน กทม.ร่วมระดมทุนด้วยจำนวนมาก เพราะเชื่อมั่นผู้ว่าฯ กทม.คนนี้ว่า จะลงทุนให้เกิดประโยชน์โภคผลแก่ชาว กทม. โดยสามารถชำระหนี้คืนได้ในระยะเวลาอันสั้น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ