สงครามเน็ตบ้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สงครามเน็ตบ้าน

Date Time: 11 ก.ค. 2565 05:07 น.

Summary

  • ตลาดโทรคมนาคมกลับมาร้อนฉ่าอีกครั้ง เมื่อบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ประกาศซื้อกิจการ

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

ตลาดโทรคมนาคมกลับมาร้อนฉ่าอีกครั้ง เมื่อบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ประกาศซื้อกิจการ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ 3BB และซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF ด้วยเม็ดเงิน 3.24 หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดคำถามดีลนี้จะสำเร็จราบรื่นหรือไม่? เทียบกับดีลการควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทคแล้วต่างกันไหม? และถ้าดีลของเอไอเอสราบรื่น ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์อะไร?

การควบรวมหรือซื้อกิจการเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวจากการแข่งขันทางเทคโนโลยีและภาวะเศรษฐกิจ ดีลนี้ซื้อหุ้นครั้งนี้ยังต้องผ่านกระบวนการขอความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท และต้องขออนุญาตจาก กสทช. มีการประเมินกันว่าดีลนี้จะเสร็จสมบูรณ์ราวไตรมาส 1 ปี 2566

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตบอร์ด กสทช. เผยว่า หลักเกณฑ์พิจารณาดีลซื้อหุ้นครั้งนี้คล้ายกับกรณีทรูควบรวมกับดีแทค ใช้ประกาศฉบับเดียวกัน แต่มีความต่างกันตรงที่กรณีทรู-ดีแทคเป็นการควบรวมบริษัทแม่ แต่กรณีเอไอเอสกับ 3BB เป็นผู้รับอนุญาตทั้งคู่ ถือเป็นการซื้อกิจการที่มีลักษณะถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ตรงไปตรงมา ไม่มีการพยายามหลบเลี่ยงว่าเป็นการควบรวมบริษัทแม่ และเอไอเอสยื่นหนังสือมาขออนุญาต กสทช.ก่อน ระบุชัดเจนว่าถ้าไม่อนุญาตก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้

ในแง่ของความโปร่งใส ผมเห็นด้วยกับ นพ.ประวิทย์ตรงที่ กรณีของเอไอเอสกับ 3BB ทำตรงไปตรงมา เล่นตามกติกา ทำหนังสือขออนุมัติจาก กสทช.ก่อน ต่างกับดีลควบรวมทรู-ดีแทคที่จงใจจดทะเบียนบริษัทใหม่ก่อนแล้วค่อยแจ้งให้ กสทช.ทราบ ซึ่งไม่เชิงเป็นการขออนุญาตตามกติกา

ส่วนประเด็นการครอบงำผูกขาดตลาดนั้น จำนวนผู้ใช้บริการเน็ตบ้าน ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 ทรูมีลูกค้า 4.7 ล้านราย, 3BB มี 2.4 ล้านราย, เอ็นที (NT) 1.97 ล้านราย และเอไอเอส ไฟเบอร์ มี 1.8 ล้านราย เมื่อเอไอเอสซื้อหุ้น 3BB แล้วจะมีลูกค้าเกือบ 4.3 ล้านราย เป็นแค่เบอร์ 2 ส่วนทรูยังคงเป็นเบอร์ 1 ตามเดิม ตลาดยังเหลือผู้เล่น 3 รายใหญ่ เพราะ NT มีส่วนแบ่งการตลาด 17.8% ยังส่งผลกระทบต่อการแข่งขันได้

ต่างกับดีลควบรวมทรู-ดีแทค จะทำให้เหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2 ราย ผู้นำตลาดจะเปลี่ยนเป็นทรู-ดีแทค มีลูกค้า 52.5 ล้านราย เอไอเอสมี 44.5 ล้านราย ส่วน NT มีแค่ 2.2 ล้านราย หรือประมาณ 3% ไม่มีผลกระทบต่อการแข่งขัน เมื่อเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2 ราย ก็เสี่ยงต่อการฮั้วกันผูกขาดตลาด

การดำเนินกิจการค่ายมือถือจำเป็นต้องมีการถือครองความถี่มากพอ และมีสถานีฐานครอบคลุมเครือข่ายขนาดใหญ่ จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาด ขณะที่กิจการบรอดแบนด์ไม่มีอุปสรรคดังกล่าว ผู้เล่นหน้าใหม่ลงทุนน้อยกว่า ไม่ต้องใช้คลื่นความถี่ ไม่ต้องทุ่มเงินมหาศาลประมูลคลื่น ไม่ต้องวางสายไฟเบอร์เอง สามารถเช่าใช้จาก NT และเลือกให้บริการเฉพาะพื้นที่เฉพาะกลุ่มได้ อย่างไรก็ตามข้อพิจารณาแง่มุมต่างๆอยู่ที่ กสทช.จะเป็นผู้ชี้ขาด

ธุรกิจบรอดแบนด์ไม่ได้จบแค่เน็ตบ้าน ยังมีบริการเสริมอื่นๆอีก โดยเฉพาะ กล่องรับสัญญาณทีวี คอนเทนต์ของเอไอเอสเน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนเมือง ยิ่งได้เป็นพันธมิตรกับ Disney+Hotstar ก็ได้ลูกค้ากลุ่มเด็กเพิ่มขึ้น ส่วน 3BB มีช่อง MONOMAX เป็นตัวชูโรง เน้นหนังดูง่ายดูสบาย เข้าถึงทุกเพศวัย

ถ้าเอไอเอสซื้อหุ้น 3BB สำเร็จ ต้นทุนการซื้อคอนเทนต์จะลดลงก็ต้องรอลุ้นกันว่าราคาค่าบริการจะถูกลงหรือไม่ หรือมีแพ็กเกจจูงใจ มีบริการเสริมอะไรมาให้ลูกค้าบ้าง

ลูกค้ามือถือย้ายค่ายง่าย ไม่ชอบก็แค่เปลี่ยนซิม แต่เน็ตบ้านย้ายค่ายยุ่งยากกว่า ต้องเปลี่ยนกล่อง เปลี่ยนเราเตอร์ นัดช่างมาที่บ้าน ฉะนั้นถึงดีลซื้อหุ้นสำเร็จ ก็ต้องมีกลยุทธ์เด็ดจูงใจ.

ลมกรด


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ