นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีค่าเงินบาทที่อ่อนลงว่า มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย โดยมีภาวะเศรษฐกิจภายนอก อาทิ ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เงินเหรียญสหรัฐฯแข็งค่าขึ้น และเงินหยวนก็เริ่มแข็งขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีการไหลออกของเงินทุนบ้าง ส่วนในตลาดตราสารหนี้ไทยก็มีผลกระทบเล็กน้อย แต่นักลงทุนจากต่างประเทศยังคงให้เชื่อมั่นกับตราสารที่ออกโดยประเทศไทยอยู่ ขณะที่ตลาดทุนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดทั่วโลก โดยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
“ทิศทางเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงถึง 7.66% ถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปี หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ และรัฐบาลยังมีมาตรการออกมาดูแลเฉพาะกลุ่ม ทั้งเรื่องราคาสินค้า พลังงาน และเตรียมหารือกับกระทรวงพลังงาน หามาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเงินบาทอ่อนค่าในรอบ 6 ปี 6 เดือน เชื่อว่ารอบนี้เอาอยู่ที่ 36.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ”
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินบาทยังคงอ่อนค่าลงมาแตะที่ 36.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการอ่อนค่าในรอบ 6 ปี 6 เดือน นับจากเดือน ม.ค.2559 จากนั้นค่าเงินบาทมาเคลื่อนไหวมาอยู่ที่ 36.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การอ่อนค่าของเงินบาท เกิดจากนักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังมีท่าทีปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขเงินเฟ้อ จึงมีแรงเทขายเงินบาท เงินในสกุลภูมิภาค และตลาดเงินใหม่ พร้อมโยกเงินไปซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ และพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
“การอ่อนค่าของเงินบาทรอบนี้ เกิดจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะท่าทีของเฟด ที่ยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ทำให้เกิดความกังวลเศรษฐกิจจะถดถอย ค่าเงินบาทของไทยได้อ่อนค่าไปไกลมากแล้ว เชื่อว่าระยะสั้นๆ ไม่น่าจะเกิน 36.35-36.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ”.