สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้ดัชนีค้าปลีกเดือน มิ.ย.แผ่วลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม จากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย ส.อ.ท.เผยราคาพลังงานดันต้นทุนการผลิตเพิ่ม 20% จนต้องหั่นกำไรรักษายอดขาย
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือน มิ.ย.65 ในภาพรวมพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกลดลงมาอยู่ที่ 48.9 จุด ปรับลดลง 4.4 จุด เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 53.3 จุด ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามส่งผลมาจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ ผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่ามีแนวโน้มสัญญาณที่ดีในการออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น แต่ความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 4.4 จุดเช่นกัน จากระดับ 58.7 จุด ในเดือน พ.ค. มาที่ 54.3 จุดในเดือน มิ.ย. แสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อแนวโน้มต้นทุนการดำเนินธุรกิจและราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่คาดการณ์ว่าจะถูกปรับลดลง ภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะดีดตัวเพิ่มขึ้น
ทางสมาคมได้มี 4 ข้อเสนอต่อภาครัฐประกอบด้วย 1.นโยบายกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตรงเป้า และโดยเร็ว 2.รัฐต้องกำกับดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต 3.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐ ไตรมาสที่สี่ และ 4.สนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจโพล ส.อ.ท. ภายใต้หัวข้อ “ภาคอุตสาหกรรมจะรับมือกับวิกฤติพลังงานแพงอย่างไร” มองว่า จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 20% สวนทางกับการปรับราคาขายสินค้าและบริการในช่วงที่ผ่านมา ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นได้น้อยกว่า 10% เนื่องจากต้องการรักษายอดขายรวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมราคาสินค้าของรัฐ
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. คาดว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับ 120-140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อประกอบกับมาตรการตอบโต้ระหว่างชาติตะวันตกและรัสเซียเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น จึงเสนอขอให้ภาครัฐพิจารณาขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.นี้ออกไปอีก 2-3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ขณะที่มาตรการแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานในระยะยาว ควรมีการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน ในภาคธุรกิจและภาคประชาชน สนับสนุนให้เกิดการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพิ่ม และลดการใช้พลังงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการทบทวนโครงสร้างราคาพลังงานให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย.