นายกฯประชุม สมช. พิจารณาแผนรับมือวิกฤติพลังงานและอาหารเล็งต่ออายุมาตรการช่วยกลุ่มเปราะบางถึงเดือน ธ.ค.65 สั่งจัดหาแหล่งพลังงานเพิ่ม ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ 2 ชุด เกาะติดสถานการณ์ และทำข้อเสนอแก้ปัญหา พร้อมชวนคนไทยประหยัดพลังงาน ด้าน กบน.ตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 35 บาท ต่ออีกนาน 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.นี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ได้พิจารณาแผนรับมือวิกฤติพลังงานและอาหาร โดยวางแผนระยะ 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อเตรียมการรองรับไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประเทศให้ได้มากที่สุด โดยแผน 3 เดือนได้ต่อมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ดำเนินการอยู่ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.65 ไปจนถึงเดือน ธ.ค.65 และต้องพิจารณาด้วยว่าจะเพิ่มเติมมาตรการใดอีก และรัฐจะใช้เงินจากที่ไหนมาดำเนินการ หากกู้เงินต้องระวังเรื่องการก่อหนี้สาธารณะ ขณะที่กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงติดลบเกินแสนล้านบาท จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาทได้อีกนานแค่ไหน
“ผมยืนยันดูแลให้เต็มที่เท่าที่จะมากได้ และต่อไปหากเศรษฐกิจดีขึ้น ท่องเที่ยวดีขึ้นจะดูแลต่ออย่างไร ต้องจำกัดการช่วยเหลือหรือไม่ หากช่วง 6 เดือนสถานการณ์ดีขึ้น ก็ลดมาตรการช่วยเหลือลง สิ่งสำคัญวันนี้ ขอให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน ใช้เท่าที่จำเป็น ผมขอร้อง ผมเองก็ใช้เท่าที่จำเป็น”
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน ได้สั่งการให้จัดหาแหล่งพลังงานเพิ่มในพื้นที่อ่าวไทย โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนและระหว่างไทย-กัมพูชา โดยจะทำในรูปแบบพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทางทะเลร่วมกันจะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งให้หารือกับต่างประเทศเพิ่มเติม ส่วนความมั่นคงทางอาหารไทยไม่น่ามีปัญหาขาดแคลน
ขณะเดียวกัน เห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และคณะกรรมการเฉพาะกิจติดตามประมวลผลวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาทุกมิติ จัดแผนรองรับทุกด้านตามวิกฤตการณ์ในอนาคต มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้เอากฎหมายมาพิจารณาทั้งหมดว่ามีกฎหมายใดทำได้ หรือทำไม่ได้ คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะหารือรายละเอียด จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ส่วนนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้พิจารณาการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องต่างๆ ส่วนประเด็นโรงกลั่นได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุย แต่ยังเหมือนเดิมคือขอความร่วมมือโรงกลั่นส่งเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมัน ส่วนที่กระทรวงพลังงานส่งหนังสือสอบถามข้อกฎหมายในการส่งกำไรของโรงกลั่นนั้น หนังสือเพิ่งมาถึงสำนักงานกฤษฎีกา คาดจะตอบความเห็นกลับไปยังกระทรวงพลังงานได้ในเร็วๆนี้
ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ตอบกระทู้ถามสดแนวทางแก้ปัญหาพลังงานในประเทศ และแนวทางบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่รัฐสภาว่า ข้อเสนอลดค่ากลั่นในข้อเท็จจริง ผู้ประกอบการเพิ่งมีกำไร 2-3 เดือน และมีกำไร 1-2 บาท ไม่ใช่มีกำไรมายาวนาน หากจะเจรจาลดค่ากลั่นต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้วย หากโรงกลั่นยุติการกลั่น รัฐบาลต้องนำเข้าน้ำมันอาจทำให้ราคาสูงขึ้น “ส่วนการแก้ปัญหาพลังงานจะรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดไฟฟ้าด้วยวิธีปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ หากวุฒิสภาทำได้ ปรับอุณหภูมิไม่ต้องใส่สูท ผูกไท ให้ประชาชนเห็นจะทำให้เกิดการปฏิบัติจริงจังมากขึ้น”
ด้านนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้คงราคาขายปลีกดีเซลสัปดาห์นี้ไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาทต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.65 ที่มีมาตรการอุดหนุนราคาดีเซล 50% ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่าลิตรละ 35 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.65) หลังจากสิ้นสุดเดือน มิ.ย.65 สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 3 ก.ค.65 ติดลบ 107,601 ล้านบาท เป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 69,718 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้มติดลบ 37,883 ล้านบาท.