นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ เพิ่มเป็น 2.9% จากเดิม 2.5% โดยได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยว โดยปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทย 7.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดิม 4 ล้านคน ส่วนเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นไปจุดสูงสุดไตรมาส 3 ที่ 7.4% ตลอดทั้งปีเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 4% ขณะที่ส่งออกจะขยายตัว 7.8% เพิ่มจากเดิม 3.4% และการนำเข้าขยายตัว 14.5% จากเดิม 7.4% “ไตรมาส 3 เงินเฟ้อจะเร่งตัวไปจุดสูงสุด และเริ่มปรับลดลงในไตรมาส 4 แต่ในความรู้สึกของประชาชนราคาสินค้ายังแพงอยู่ไปถึงสิ้นปีแม้เงินเฟ้อจะลดลง”
ทั้งนี้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยประเมินว่าสิ้นปีนี้ดอกเบี้ยสหรัฐฯจะปรับขึ้นมาที่ 3.25-3.50% ทำให้ดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯมีส่วนต่างมากขึ้น ทำให้เกิดเงินทุนไหลออก เงินบาทอ่อนค่า คาดว่าช่วง 2 เดือนจากนี้ ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 รอบ คือการประชุมเดือน ส.ค.นี้ และเดือน ก.ย.65 เพื่อช่วยไม่ให้เงินบาทอ่อนค่า ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ประเมินว่า สภาพคล่องส่วนเกินในระบบยังมีอยู่สูง ธนาคารน่าจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยทั่วไป แต่จะปรับขึ้นเฉพาะกลุ่มทั้งเงินฝากและเงินกู้ เพราะยังต้องดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่ลูกค้ารายใหม่ที่จะกู้สินเชื่อบ้านและลีสซิ่งรถยนต์ดอกเบี้ยจะขึ้นเล็กน้อย ซึ่งลูกค้ามีศักยภาพรองรับดอกเบี้ยที่ขึ้นได้ แต่ที่ห่วงคือสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตลูกค้ารายเดิม ที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพสูงขึ้น จะมีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ แม้ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ตาม.