นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การประกาศบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 จะสามารถช่วยลดปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ในระดับหนึ่ง เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้ได้ชื่อ ได้เบอร์ไปจากร้านค้า หรือกิจกรรมที่ประชาชนไปติดต่อ เช่น ส่งของออนไลน์ ซื้อของออนไลน์ ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ก็ต้องจัดเก็บให้ดี องค์กรธุรกิจต่างๆจะไปถ่ายโอนหรือส่งต่อให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้ ถือว่ามีความผิด เพราะถือเป็นข้อมูลส่วนตัว
“ผู้ประกอบการที่มีข้อมูลของลูกค้า หรือผู้มาติดต่อบริษัทที่มีข้อมูลของผู้มาสมัครงาน หรือพรรคการเมืองที่มีข้อมูลของคนที่มาสมัครเป็นสมาชิกพรรค ข้อมูลเหล่านี้จะต้องเก็บให้ดี ไม่ให้รั่วไหล และคนที่จะเปิดดูข้อมูลได้ก็ต้องมีความรับผิดชอบที่ชัดเจน หากข้อมูลรั่วไหลออกไปจะเป็นความผิด ถูกดำเนินคดีถูกฟ้องร้องได้ ดังนั้น จะต้องมีระบบป้องกันให้ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จะต้องจัดทำระบบ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะออกระเบียบและประกาศไว้”
นายชัยวุฒิกล่าวว่า การฉ้อโกง หลอกลวง และการกระทำผิดกฎหมายออนไลน์ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก มิจฉาชีพเข้าถึงเหยื่อได้มากเพราะคนไทยใช้มือถือสมาร์ทโฟนแตะหลัก 100 ล้านเครื่อง เข้าถึงอินเตอร์เน็ตกว่า 70% ทำให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางหลอกลวงต้มตุ๋น
โดยนอกจากกฎหมาย PDPA แล้ว ทางดีอีเอสยังได้เสนอกฎหมาย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) และผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 25 ต.ค.64 โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีการทำธุรกิจออนไลน์ มีการซื้อขาย มีการโอนเงินต้องมาจดแจ้งการประกอบธุรกิจ และจะมีมาตรการกำกับดูแลที่ต้องปฏิบัติตาม ได้แก่ ลูกค้าที่มาใช้บริการต้องมีการพิสูจน์ตัวตน ยืนยันตัวตนทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย ระบบการจ่ายเงิน การโอนเงินก็ต้องใช้ระบบการยืนยันตัวตน 2 ชั้น เพื่อป้องกันการเอาข้อมูลลูกค้าไปตัดบัญชีโดยเจ้าตัวไม่รู้ และเมื่อมีการกระทำผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้กับประชาชน ต้องให้ประชาชนมีภูมิต้านทานป้องกันการถูกหลอกลวง อย่าเชื่อ อย่าโอนเงิน.