โรงกลั่นพร้อมหนุนรัฐช่วยประชาชน “ไทยออยล์” เปิดตัวเลขค่าการกลั่น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โรงกลั่นพร้อมหนุนรัฐช่วยประชาชน “ไทยออยล์” เปิดตัวเลขค่าการกลั่น

Date Time: 24 มิ.ย. 2565 06:06 น.

Summary

  • โรงกลั่นพร้อมร่วมมือรัฐช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน แจงค่าการกลั่นว่าไม่ใช่กำไรที่แท้จริง “ไทยออยล์” เปิดตัวเลขนับจากช่วงโควิดถึงปัจจุบัน ค่าการกลั่นอยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

โรงกลั่นพร้อมร่วมมือรัฐช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน แจงค่าการกลั่นว่าไม่ใช่กำไรที่แท้จริง “ไทยออยล์” เปิดตัวเลขนับจากช่วงโควิดถึงปัจจุบัน ค่าการกลั่นอยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยวิธีการที่เหมาะสม ภายใต้หลักของกฎหมายและการค้าเสรี และขอชี้แจงต่อประชาชนว่าค่าการกลั่นไม่ใช่กำไรสุทธิของโรงกลั่น เนื่องจากยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายดำเนินการอื่นๆ อีก อาทิ ค่าพรีเมียมน้ำมันดิบ ค่าพลังงานอื่นๆ ค่าสาธารณูปโภค ค่าบำรุงรักษาโรงกลั่น ค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา

อีกทั้งในข้อเท็จจริงโรงกลั่นต่างๆได้มีการนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายแหล่ง เช่น น้ำมันดิบเมอร์บาน จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือน้ำมันดิบอาระเบียน ไลต์ จากซาอุดีอาระเบีย ทำให้ราคาสูงกว่าน้ำมันดิบดูไบ และผู้ขายก็จะบวกค่าพรีเมียมน้ำมันดิบ (Crude Premium) หรือส่วนต่างราคาน้ำมันดิบ ที่เราต้องซื้อจริงกับราคาน้ำมันดิบดูไบเข้าไปในสูตรราคาด้วย ซึ่งขณะนี้ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับปกติค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ด้วยลักษณะและสภาพธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีความผันผวนสูง โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจึงต้องทำสัญญาขายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปล่วงหน้าเพื่อบริหารความเสี่ยง และไม่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ยังต้องบันทึกการขาดทุนจากการเข้าทำสัญญาดังกล่าวด้วย จึงขอสรุปว่าสมมติฐานที่ระบุว่าผู้ประกอบการโรงกลั่นมีกำไรเพิ่มขึ้น
ไม่ถูกต้องทั้งหมด ที่สำคัญโรงกลั่นไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันดิบ และตลาดน้ำมันสำเร็จรูป

“ในอดีตที่โรงกลั่นต้องแบกรับภาระขาดทุนในบางช่วงเวลา เนื่องจากค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เช่น ปี 2563-2564 ที่เกิดโควิด-19 และมีความต้องการใช้น้ำมันน้อยลงมาก ฉะนั้น การนำค่าการกลั่นเฉลี่ยระยะสั้นมาพิจารณาว่าโรงกลั่นมีกำไรมากเกินควร จึงไม่ถูกต้อง หากนำค่าการกลั่นเฉลี่ยตั้งแต่เดือน ม.ค.2563-ธ.ค.2564 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และโรงกลั่นประสบภาวะขาดทุนอยู่ที่ระดับ 0.30 บาทต่อลิตร มาเฉลี่ยรวมกับช่วงต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบันที่ 2.80 บาทต่อลิตร จะพบว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยรวมตลอดช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิด-19”

ด้านนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์ พีซี จำกัด (มหาชน) หรือไออาร์พีซี เปิดเผยว่า ค่าการกลั่น ของโรงกลั่นน้ำมันที่แท้จริงจะเปิดเผยได้ชัดเจนสุดต้องรอดูในการรายงานผลประกอบการงวดสิ้นปี ซึ่งก็อาจช้าไป แต่บริษัทก็พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐตามหลักปฏิบัติที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และภายใต้กรอบของกฎหมายและการค้าเสรี

ทั้งนี้ ค่าการกลั่น หรือ Gross Refining Margin (GRM) เป็นดัชนีเบื้องต้น เพื่อใช้ดูทิศทางหรือแนวโน้มผลประกอบการของโรงกลั่น โดยอาศัยหลักการคำนวณค่าการกลั่นจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดที่โรงกลั่นผลิตได้ หักลบกับต้นทุนการผลิตเบื้องต้นที่โรงกลั่นใช้ในการผลิต เช่น ต้นทุนน้ำมันดิบ ค่าขนส่ง ส่วนโรงกลั่นในประเทศใดจะหักลบค่าประกันภัย ค่าเชื้อเพลิง ค่าน้ำ/ไฟ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนิยามและแนวปฏิบัติของโรงกลั่นในแต่ละประเทศ ดังนั้น จึงไม่ใช่กำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น เนื่องจากไม่ได้หักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่ใช้ในการผลิตและการดำเนินการทั้งหมด

“ผมอยากชี้แจงว่า โรงกลั่นไออาร์พีซี ไม่ได้กลั่นน้ำมันดูไบมานานแล้ว เพราะใช้น้ำมันอยู่ 2 ชนิดหลัก คือ Sour Crude (น้ำมันดิบเปรี้ยว) 70% ที่มีต้นทุนสูงกว่าดูไบ 7-10 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล และ Sweet Crude (น้ำมันดิบหวาน) จำนวน 30% ที่มีต้นทุนแพงกว่าดูไบ 9-13 ดอลลาร์ฯ และมีค่าพรีเมียมที่บวกเข้าไปของน้ำมันแต่ละชนิด ซึ่งโรงกลั่นไม่สามารถกำหนดค่าพรีเมียมเองได้ เพราะต้องแย่งกันซื้อน้ำมันจากประเทศผู้ค้า นอกจากนี้ ธุรกิจโรงกลั่นยังมีปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆที่ควบคุมได้ยาก เช่น ความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาน้ำมัน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ