สศช.ฝันเศรษฐกิจปีนี้โต 3.5% คาดนักท่องเที่ยวเข้าไทยจะเพิ่มขึ้นอีก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สศช.ฝันเศรษฐกิจปีนี้โต 3.5% คาดนักท่องเที่ยวเข้าไทยจะเพิ่มขึ้นอีก

Date Time: 23 มิ.ย. 2565 07:28 น.

Summary

  • สศช.ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% หรือมีค่ากลางอยู่ที่ 3% ซึ่งได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดธุรกิจค้าปลีกปี 2568 โต 3-5% หวังแรงหนุนจากท่องเที่ยวและส่งออก

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย ว่า สศช.ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% หรือมีค่ากลางอยู่ที่ 3% ซึ่งได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังว่า สมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจระดับ 3% ในปีนี้ยังมีความเป็นไปได้ เนื่องจากมีหลายเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่เป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ทั้งเรื่องการส่งออก โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่ส่งออกได้มากขึ้น การเปิดรับการท่องเที่ยวที่ 5 เดือนที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย 2 ล้านคน ปีนี้คาดว่าจะมี 7-10 ล้านคน

“ตัวเลขล่าสุดในเดือน เม.ย.มีที่ฟื้นตัวได้ดี เช่น การบริโภคของภาคเอกชนโต 8% การลงทุนของภาคเอกชนยังเติบโตต่อเนื่อง โดยในส่วนที่มีจากปัญหาความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เกิดจากราคาพลังงานและเงินเฟ้อ ขณะที่ราคาดัชนีสินค้าเกษตรดีขึ้นทุกตัว การเข้าพักในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ดีขึ้น และเมื่อมีมาตรการเราเที่ยวด้วยกันต่อเนื่องไปจะช่วยให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวมากขึ้น”

นายดนุชากล่าวว่า ปี 2566 สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7% เป็นการคาดการณ์ที่ต่ำกว่าสำนักเศรษฐกิจอื่นๆที่มองว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้ 4.3-4.5% และบางสำนักมองว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 5% เนื่องจาก สศช.มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจไม่เหมือนกับในหลายประเทศที่ฟื้นตัวจากวิกฤติและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ได้ในระดับ 5-7% ทันที แต่การฟื้นตัวของไทยต้องรอการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการส่งออกจะทำให้เศรษฐกิจในภาคบริการฟื้นตัวได้ดีขึ้น และรายได้จากการท่องเที่ยวที่เข้ามา ทำให้ปีนี้ประเทศไทย อาจไม่มีปัญหาเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา

“ประเด็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมีทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพราะมีความไม่แน่นอนสูง ส่วนปัญหาในประเทศ ต้องจับตาเรื่องของหนี้ครัวเรือน และเงินเฟ้อที่กระทบกับผู้มีรายได้น้อยและมีความเปราะบาง ขณะนี้ต้นทุนยังไม่ได้เพิ่มมาที่ผู้บริโภคมากนัก ตรงนี้ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเพราะผู้ผลิตก็มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของมาตรการต่างๆที่ออกมาเพื่อลดค่าครองชีพ หลายส่วนภาครัฐแบกต้นทุนเอาไว้ให้อยู่”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ