บี้โรงกลั่นส่งกำไรเจรจาไม่จบ! “บิ๊กตู่” สั่งทำแผนฉุกเฉินรับวิกฤติอาหาร-พลังงาน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บี้โรงกลั่นส่งกำไรเจรจาไม่จบ! “บิ๊กตู่” สั่งทำแผนฉุกเฉินรับวิกฤติอาหาร-พลังงาน

Date Time: 22 มิ.ย. 2565 06:42 น.

Summary

  • นายกฯสั่งประชุมสภาความมั่นคง หวั่นวิกฤติพลังงานลากยาว สั่งทำแผนเผชิญเหตุด้านอาหาร พลังงาน ขณะที่ ครม.เห็นชอบต่ออายุมาตรการลดผลกระทบประชาชน ส่วนการดึงเงินกำไรส่วนเกินโรงกลั่นยังเจรจาไม่จบ

Latest

แห่ลงทุนPCBรวม1.6แสนล้าน

นายกฯสั่งประชุมสภาความมั่นคง หวั่นวิกฤติพลังงานลากยาว สั่งทำแผนเผชิญเหตุด้านอาหาร พลังงาน ขณะที่ ครม.เห็นชอบต่ออายุมาตรการลดผลกระทบประชาชน ส่วนการดึงเงินกำไรส่วนเกินโรงกลั่นยังเจรจาไม่จบ จากคาดเดือนละ 8,000 ล้านบาท ตอนนี้ได้ 500-1,000 ล้านบาทจากโรงแยกก๊าซ ปตท.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนและภาคธุรกิจเร่งด่วน ทั้งมาตรการใหม่และมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือน มิ.ย.โดยการประเมินสถานการณ์ราคาพลังงานคงไม่สิ้นสุดในระยะเวลาอันใกล้ จึงให้มีการประชุมหารือการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ตามสมมติฐาน หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาพอกพูนไปเรื่อยๆ และเป็นปัญหาด้านงบประมาณการเงินการคลังในอนาคต ฉะนั้น ต้องเตรียมแผนความพร้อม ทั้งมิติด้านพลังงาน อาหาร ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบทั้งสิ้น ต้องวางแผนระยะยาว

ครม.อนุมัติ 6 มาตรการดูแลประชาชน

ทั้งนี้ มติ ครม.ครั้งนี้ ได้เห็นชอบมาตรการต่อไปนี้ 1.ตรึงราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี 15.59 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ภายใต้โครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน สำหรับแท็กซี่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 13.62 บาทต่อ กก.เป็นเวลา 3 เดือน (16 มิ.ย.-15 ก.ย.) 2.กำหนดกรอบราคาขายปลีกแอลพีจี 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.) 3.ขยายเวลาให้ส่วนลดราคาแอลพีจี ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เกิน 100 บาทต่อราย/เดือน ต่อไปอีก 3 เดือน ถึงเดือน ก.ย.65 ส่วนผู้มีรายได้น้อยซึ่งถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรับส่วนลดการซื้อก๊าซหุงต้ม 100 บาทต่อราย 3 เดือน 4.อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล 50% ส่วนที่สูงกว่า 35 บาทต่อลิตรเป็นเวลา 3 เดือน ถึง ก.ย. 5.คงค่าราคาตลาดน้ำมันดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร 6.ดึงกำไรจากโรงกลั่นน้ำมัน นำส่งกำไรจากค่าการกลั่นส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อลดภาระค่าน้ำมันให้กับประชาชนทั้งดีเซลและเบนซินในช่วง 3 เดือน ก.ค.-ก.ย. ไปก่อน ซึ่งอันนี้ เป็นการขอความร่วมมือก็ต้องขอขอบคุณบรรดาสถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือต่อเรื่องนี้

นอกจากนี้ มีมาตรการทางภาษีสำหรับบริษัท ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล ในการจัดอบรม สัมมนา จัดนิทรรศการการจัดแสดงสินค้าในประเทศเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 15 ก.ค.ถึงสิ้นปี 2565 โดยหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าเดินทาง และอื่นๆที่เกี่ยวข้องในเมืองหลักหักได้ 1.5 เท่า เมืองรองได้ 2 เท่า ค่าใช้พื้นที่ออกร้านงานแสดงสินค้าต่างๆหักได้ 2 เท่า ส่วนอีกเรื่อง คือขอความร่วมมือกันช่วยประหยัดพลังงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน อุตสาหกรรม และภาคขนส่ง

ทำแผนเผชิญเหตุวิกฤติอาหาร-พลังงาน

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เตรียมหารือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร ซึ่งเป็นการเตรียมแผนเผชิญเหตุ เนื่องจากจะเป็นประเด็นสำคัญของไทยและโลกหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เรื่องนี้จึงจำเป็นเร่งด่วน นายกฯยังได้สั่งการกรณีผู้ให้บริการรถร่วม ขสมก.เตรียมลดจำนวนการให้บริการ รวมทั้งภาคขนส่ง รถทัวร์ 27 บริษัท 143 เส้นทางทั่วประเทศเตรียมลดเที่ยววิ่งลง 80% โดยให้พิจารณาเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้รายงานว่าขณะนี้จะแก้ปัญหาให้จบภายในเดือนนี้ โดยเบื้องต้นได้ให้ทาง บขส. และ รฟท.ดำเนินการจัดเตรียมการดูแลการเดินรถ ให้จัดเตรียมรถให้พร้อมรับการเดินทางอย่างเต็มที่ไม่ให้มีผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชน และสั่งการให้ ขสมก.เยียวยาผู้ประกอบการรถร่วมทุกประเภท

ขณะเดียวกัน ในส่วนมาตรการประหยัดพลังงาน ขอให้ภาคประชาชน “ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน” ปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ 26 องศาเซลเซียส ขณะที่ภาคเอกชนให้เปิด-ปิด เครื่องปรับอากาศเป็นเวลา ขอความร่วมมือให้ปิดป้ายโฆษณาหลัง 22.00 น. ส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะแทนยานพาหนะส่วนบุคคล รณรงค์ขับรถไม่เกิน 90 กม./ชม. ลดการเดินทางโดยการใช้แอปสั่งอาหารหรือรับส่งของ หรือการใช้การประชุมออนไลน์แทนการเดินทางด้วยตนเอง ขณะที่หน่วยงานราชการให้ลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงลง 20%

เคาะตัวเลขรีดกำไรโรงกลั่นสัปดาห์นี้

นายธนกรกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาตินำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันในช่วงวิกฤติน้ำมันแพง โดยเงินในส่วนของน้ำมันดีเซล นำไปบริหารราคาขายปลีกให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร และเงินในส่วนของน้ำมันเบนซิน นำไปลดราคาขายปลีก 1 บาท/ลิตรนั้น กระทรวงพลังงาน รายงานว่ากำลังอยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มโรงกลั่นถึงแนวทางในการดำเนินการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป รวมทั้งขอความร่วมมือ ปตท.นำส่งกำไรส่วนหนึ่งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจัดเก็บได้ 500-1,000 ล้านบาท/เดือน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายก รัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผย ว่า ภายในสัปดาห์นี้จะหาข้อสรุปกับ 6 โรงกลั่นเรื่องตัวเลขของกำไรส่วนเกินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ได้ ซึ่งอาจจะน้อยกว่า 8,000 ล้านบาท โดยบรรยากาศการหารือระหว่างภาครัฐและโรงกลั่นเป็นไปได้ด้วยดี ร่วมมือกันทุกฝ่าย ผู้ประกอบการก็เข้าใจสถานการณ์ ตอนนี้รัฐยังไม่อยากใช้อำนาจ กฏหมายไปบังคับ เป็นเรื่องของความร่วมมือ “การประชุมในสัปดาห์นี้โจทย์ใหญ่คือแผนระยะยาว อาจจะมีความจำเป็นที่ต้องเจาะไปคนกลุ่มเปราะบางและได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ถ้าเกิดยืดเยื้อ ขณะที่ทิศทางพลังงานจับทางได้ยาก เพราะความเคลื่อนไหวเร็วมาก”

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้หารือกับผู้ประกอบการโรงกลั่นในประเทศไทยแล้ว โดยทั้งหมดได้ยืนยันว่า พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการนำเงินส่งให้กับภาครัฐ เพื่อนำมาช่วยเหลือในเรื่องราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ความร่วมมือจะต้องดูวิธีการที่ไม่ขัดกับกฎหมาย เนื่องจากกลุ่มโรงกลั่นจด ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องขอให้กระทรวงตรวจสอบข้อกฏหมายให้ชัดเจนก่อนเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ถือหุ้น โดยต้องร่วมกันแก้ปัญหาให้ได้ข้อยุติมี 1.ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องตกลงร่วมกันได้ภายใต้กฎหมายที่กำหนดไว้ 2.วงเงินจะเป็นจำนวนเท่าใดที่เหมาะสมทั้ง 2 ฝ่าย เพราะค่าการกลั่นของโรงกลั่นแต่ละแห่งไม่เท่ากัน จึงต้องดูให้เหมาะสม

ปตท.จ่อชี้แจงผู้ถือหุ้น-นักลงทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของโรงกลั่นนั้นยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่ม ปตท.พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล แต่ต้องมีความชัดเจน และอยู่ในวงเงินที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกับประชาชนในกลุ่มเปราะบางมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในฐานะที่ ปตท.เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีนักลงทุน และผู้ถือหุ้นเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน และได้รับการสอบถามจากนักลงทุน โดยเฉพาะต่างประเทศเข้ามาถึงนโยบายดังกล่าว ซึ่งยืนยันว่าเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้ เพราะบทบาทหนึ่ง คือ การดูแลด้านสังคมสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก โดยการทำธุรกิจต้องมีนโยบายตอบแทนสังคม นอกจากนั้น ปตท. และโรงกลั่นในเครือ สามารถหาทางออกด้วยการประชุมกับผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติจากที่ประชุมในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงพอจะบรรเทาผลกระทบนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว กลุ่มโรงกลั่นก็ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะธุรกิจโรงกลั่น มีทั้งช่วงที่ค่าการกลั่นตกต่ำ ก็เจอกับภาวะขาดทุน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ