ตื่นจากภวังค์ฝัน! กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน สภาอุตฯ และสถาบันปิโตรเลียม เรียงหน้าโต้ “กรณ์ จาติกวณิช” แจงข้อมูลฟาดกลับทุกช็อต ชี้จงใจเลือกข้อมูลบางส่วนขึ้นมาเปรียบเทียบ บิดเบือนเพื่อทำประชาชนเกิดความเข้าใจผิด พร้อมเปิดโครงสร้างต้นทุนโรงกลั่นยิบ ชี้รัฐไม่มีอำนาจคุมราคาขายส่ง–ขายปลีกน้ำมัน หวั่นแบ่งกำไรให้รัฐ บอร์ดบริษัทอาจถูกผู้ถือหุ้นฟ้อง!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกแถลงการณ์ ชี้แจงกรณีนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้าที่ได้ออกมาระบุว่า “คนไทยโดนปล้นค่ากลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า” โดยนายกรณ์ระบุว่า ค่าการกลั่นน้ำมันของไทยเพิ่มขึ้น 10 เท่า จาก 0.87-0.88 บาท/ลิตร ในเดือน มิ.ย.63 เพิ่มมาเป็น 8.56 บาท/ลิตรในเดือน มิ.ย.ปี 65 นั้น ขอชี้แจงว่า นายกรณ์เลือกข้อมูลบางส่วนมา เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด โดยค่าการกลั่นที่นายกรณ์ยกมานั้น ไม่ใช่ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับจริง (Market GRM) และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากนี้ ข้อมูลที่เลือกมาเป็นฐานเป็นข้อมูลช่วงโควิด-19 ระบาด (ปี 63-64) ซึ่งค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมาก เมื่อนำมาเปรียบเทียบจึงทำให้เข้าใจผิดว่าค่าการกลั่นปัจจุบันสูงขึ้นมากผิดปกติ ซึ่งหากนำค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับจริงในช่วงปกติ ก่อนมีโควิด-19 คือปี 61-62 มาเปรียบเทียบ กับค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับในไตรมาส 1 ปี 65 จะพบว่าเพิ่มขึ้น เพียง 0.47 บาทต่อลิตรเท่านั้น ไม่ได้สูงถึง 10 เท่าและสูงถึง 8 บาทต่อลิตร
ที่สำคัญต้นทุนการกลั่นไม่ได้คงที่ แต่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น เช่น ค่าพรีเมียมน้ำมันดิบ (ราคาส่วนเพิ่มของน้ำมันดิบที่กลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง) ค่าขนส่งน้ำมัน ค่าพลังงานที่ใช้กลั่น เป็นต้น รวมถึงค่าแรงที่ปรับขึ้น และการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่เข้มมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงชนิดและมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน กฎหมายสิ่งแวดล้อม ด้านการปฏิบัติการในโรงกลั่น ความปลอดภัย เป็นต้น นอกจากนี้ โรงกลั่นไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจากค่าการกลั่นเป็นผลลัพธ์จากราคาเฉลี่ยของน้ำมันที่ขายจริงทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิต หักด้วยราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง ซึ่งรวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบและค่าใช้จ่ายในการขนส่งและค่าประกันภัย รวมถึงต้องหักค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เช่น ค่าความร้อน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสูญเสีย เป็นต้น ซึ่งจะขึ้นหรือลงตามราคาน้ำมันตลาดโลก
นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่า ค่าการกลั่น (GRM) มิใช่กำไรแท้จริงที่โรงกลั่นได้รับ การจะดูค่า GRM ต้องพิจารณาจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาทุกผลิตภัณฑ์ที่กลั่นออกมา จากหอกลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบชนิดที่แต่ละโรงกลั่นสั่งซื้อเข้ามากลั่นจริง (crack spreads) และดูผลผลิตในกระบวนการผลิตด้วย ไม่ใช่เอาส่วนต่างเฉพาะของราคาน้ำมันดีเซลที่มักจะแพงที่สุด ไปลบด้วยราคาน้ำมันดิบดูไบที่มีราคาถูกสุด แล้วไปสรุปเลยว่าต้องมีกำไรมหาศาล ดังนั้น GRM เป็นเพียง 1 ในตัวชี้วัดว่าโรงกลั่น มีประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับโรงกลั่นอื่นในภูมิภาค เพื่อพัฒนาให้แข่งกับโรงกลั่นประเทศอื่นได้ GRM จึงแสดงความสามารถของโรงกลั่นในการทำกำไรแข่งขันในตลาดค้าส่งน้ำมันที่เป็นตลาดเสรี
ขณะเดียวกัน โรงกลั่นแต่ละแห่งมีการลงทุนและค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน ยังไม่รวมถึงต้นทุนค่าซื้อน้ำมันดิบมากลั่นที่แต่ละโรงซื้อมาในเวลาที่ต่างกันราคาต่างกัน และคุณภาพชนิดน้ำมันดิบก็อาจต่างกันด้วย ค่าสำรองน้ำมันตามกฎหมาย ค่าบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากราคาขึ้นลงของสต๊อกน้ำมัน จึงไม่เหมือนกัน ดังนั้น การคุมราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นแต่ละโรง จึงไม่อาจทำได้และไม่มีประเทศใดทำกัน รวมถึงการประกาศควบคุมราคาตามข้อเสนอของนายกรณ์ รัฐบาลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไปคุมราคาขายส่งหรือขายปลีกน้ำมัน หากทำจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นอาจทบทวนลดสั่งน้ำมันดิบเข้ามาผลิตน้ำมันในประเทศได้ ก็จะมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมัน “โรงกลั่นทั้ง 6 แห่งในไทยเป็นบริษัทมหาชน มีการเปิดเผยงบการเงิน งบกำไรขาดทุนจากผลประกอบการเป็นรายปี และรายไตรมาส โปร่งใสตรวจสอบได้ เสียภาษีทุกประเภท ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีที่ดิน ธุรกิจแต่ละรายมิได้จำกัดอยู่แต่การนำเข้าหรือกลั่นอย่างเดียว กำไรจึงไม่ใช่มาจากเฉพาะการกลั่น แต่ละโรงอาจลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรไม่พร้อมกัน”
ดังนั้น การขอให้จัดสรรเงินแบ่งกำไรมาให้รัฐ โดยใช้ตัวชี้วัด GRM เป็นตัวกำหนด ผู้บริหารต้องคิดหนักเพราะอยู่นอกเหนือกฎหมาย พันธกรณีใดๆ และต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทด้วย หากคณะกรรมการบริษัทมหาชน ใช้ดุลพินิจมิได้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ยึดประโยชน์องค์กร จนเกิดความเสียหาย อาจถูกผู้ถือหุ้นฟ้องได้ “ที่สำคัญกำไรสุทธิของโรงกลั่นที่เป็นบริษัทมหาชน จะรู้แน่ว่ามีกำไรหรือขาดทุนต้องรอครบ 12 เดือนของปีปฏิทินก่อน การใช้ตัวเลข GRM เพียงแค่ 2-3 เดือนมาสรุปว่าโรงกลั่นมีกำไรมหาศาล หาก 6 เดือนหลังปีนี้ราคาน้ำมันร่วงลง โรงกลั่นกลายเป็นขาดทุน เขาจะไปเรียกร้องขอเงินส้มหล่นนี้คืนจากรัฐได้ไหม”.