สภาดิจิทัลฯ ขอบคุณรัฐบาลออกพ.ร.ฎ.เว้น Capital Gains Tax ดันสตาร์ทอัพไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สภาดิจิทัลฯ ขอบคุณรัฐบาลออกพ.ร.ฎ.เว้น Capital Gains Tax ดันสตาร์ทอัพไทย

Date Time: 17 มิ.ย. 2565 10:00 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • สภาดิจิทัลฯ ขอบคุณรัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เว้น Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี คาดดันสตาร์ทอัพไทยเติบโต ดึงดูดต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยกว่า 10,000 ราย

Latest


สภาดิจิทัลฯ ขอบคุณรัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เว้น Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี คาดดันสตาร์ทอัพไทยเติบโต ดึงดูดต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยกว่า 10,000 ราย

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา หรือ พ.ร.ฎ.ยกเว้นภาษี Capital Gains เป็นเวลา 10 ปี เมื่อ 14 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา สภาดิจิทัลฯ ต้องขอขอบคุณพันธมิตรทุกรายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพจนสำเร็จเป็นรูปธรรมในวันนี้

ทั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย รวมถึงยังเป็นการสร้างไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีนโยบายยกเว้นภาษี Capital Gains Tax ทำให้ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้จำนวนมาก

นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตแข็งแกร่งสู้กับประเทศอื่นได้ และยังเป็นโอกาสที่ดีในการดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาร่วมสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจไทย

โดยตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าการลงทุนใน Tech Companies ในภูมิภาคอาเซียน เข้ามาลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพไทย มั่นใจจะมีจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนตำแหน่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 790,000 ล้านบาท

สภาดิจิทัลฯ เตรียมวางแผนเดินหน้ากระตุ้นให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย โดยเตรียมออกโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก อาทิ อเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ นอกจากนี้เตรียมตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อเป็นแหล่งในการให้คำปรึกษาตอบคำถาม ทั้งช่วยประสานงานกับภาครัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดทำข้อมูลและคู่มือการใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ เป็นต้น และสิ่งท้าทายสำคัญคือการระดมสรรพกำลัง ให้ภาคเอกชนต่างๆ เร่งมาใช้ประโยชน์จากกฎหมายเหล่านี้ให้มากที่สุด

ขณะเดียวกัน สภาดิจิทัลฯ ยังมีภารกิจสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล การพัฒนาบุคคลากรด้านดิจิทัลให้เกิดการประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ทั้งการลงทุนและกำลังคนในมิติอื่นๆ อาทิ Startup สามารถออกหุ้นแปลงสภาพให้แก่นักลงทุนได้, Startup สามารถออกหุ้นแก่พนักงานได้ (ESOP)

รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นใหม่สำหรับ Startup และ SME ภายใต้ชื่อ LIVE EXCHANGE, ส่งเสริมการระดมทุนจากประชาชนที่อยู่ในรูปของหุ้น/หุ้นกู้ ผ่าน CROWDFUNDING PORTAL ที่จดแจ้งผ่าน ก.ล.ต., สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับค่าการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะลูกจ้าง และการจ้างงานสายเทคโนโลยี

นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับค่าอบรม และค่าจ้างบุคลากรด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้สภาดิจิทัลฯ จะร่วมผลักดันมาตรการเหล่านี้ร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งจะเป็นตัวแทนรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และสะท้อนให้เกิดการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ