ด้านเศรษฐกิจทรุดหนักสุด เผยขีดความสามารถของไทยร่วง 5 อันดับ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ด้านเศรษฐกิจทรุดหนักสุด เผยขีดความสามารถของไทยร่วง 5 อันดับ

Date Time: 16 มิ.ย. 2565 08:02 น.

Summary

  • IMD ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศปี 2565 ไทยร่วง 5 อันดับ จาก 28 มาอยู่ที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ลดลงมากที่สุด 13 อันดับ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

IMD ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศปี 2565 ไทยร่วง 5 อันดับ จาก 28 มาอยู่ที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ลดลงมากที่สุด 13 อันดับ ประสิทธิภาพภาครัฐ ลดลง 11 อันดับ ประสิทธิภาพธุรกิจ ลดลง 9 อันดับ

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า สถาบัน International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประจำปี 2565 โดยผลกระทบสะสมจากโควิด-19 ส่งผลให้ปีนี้ประเทศไทยมีอันดับลดลงถึง 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ โดยลดลงในทุกปัจจัยชี้วัด และปัจจัยด้านเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากที่สุด จากในปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 28 โดยมีผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 72.52 มาอยู่ที่ 68.67 ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ 63 เขตเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจาก 63.99 ในปี 2564 มาอยู่ที่ 70.03 ในปีนี้

เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงจากปีที่แล้วในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ มีอันดับที่ลดลงมากที่สุดถึง 13 อันดับ ตามมาด้วย ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ลดลง 11 อันดับ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ลดลง 9 อันดับ

โดยมีประเด็นสำคัญในแต่ละด้าน ดังนี้ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ลดลงจากปี 2564 มาอยู่ที่อันดับ 34 ในปี 2565 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการค้าระหว่างประเทศ ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ในปี 2564 เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี จากผลกระทบของการระบาดไวรัสโควิด-19 จนมีผลสืบเนื่องไปถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ลดลงมาอยู่ที่อันดับ 31 ในปี 2565 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการคลังภาครัฐ จากการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐ เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากพิษโควิด-19 และหนี้สาธารณะของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น

ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ลดลงมาอยู่ที่อันดับ 30 ในปี 2565 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ ที่ไทยยังคงมีขีดความสามารถในการแข่งขันน้อย กำลังแรงงานไทยที่มีอัตราการเติบโตลดลง เนื่องจากไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลดลงจากปี 2564 เล็กน้อย 1 อันดับ

“ผลการจัดอันดับในปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่เปราะบาง มีการพึ่งพิงปัจจัยภายนอกและต่างประเทศมากเกินไป ผลิตภาพการผลิตของประเทศอยู่ในระดับต่ำ ส่งผล ให้ขาดความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคใหม่ และสะท้อนถึงการลดลงของความเชื่อมั่นในนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของภาครัฐ”

ทั้งนี้ IMD มีการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้รวม 5 เขตเศรษฐกิจ โดยสิงคโปร์ยังคงเป็นผู้นำ โดยมีอันดับดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับที่ 5 ในปี 2564 มาเป็นอันดับที่ 3 ขณะที่มาเลเซีย ลดลงจากอันดับที่ 25 มาเป็นอันดับที่ 32 และอินโดนีเซีย ลดลงจากอันดับที่ 37 เป็นอันดับที่ 44 นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ ดีขึ้นจากอันดับที่ 52 เป็นที่ 48 ในปีนี้ ส่วน 5 อันดับแรกของโลกในปี 2565 ได้แก่ อันดับ 1 เดนมาร์ก อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 3 สิงคโปร์ อันดับ 4 สวีเดน และอันดับ 5 ฮ่องกง. 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ