สดช.เปิดแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 3 (พ.ศ.2566–2570) วางยุทธศาสตร์หลักเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Transforming) โดยภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญ เผยเงื่อนไขสิทธิพิเศษภาษีหนุนก่อสร้างอาคาร 5G, จริยธรรม AI และการยิงดาวเทียม Leo วงโคจรต่ำ เก็บตกครัวเรือนชายขอบที่อินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึงอีก 20% ที่เหลือ
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเผยว่า สดช.กำลังอยู่ระหว่างการทบทวน และปรับปรุงนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2580) ในระยะ 3 ระหว่างปี 2566-2570 โดยอยู่ในขั้นตอนระดมสมองเพื่อจัดทำภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Future Scenario) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาชน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.2565
ทั้งนี้ แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ระยะ 3 ของประเทศ เป็นการวางยุทธศาสตร์เพื่อเดินหน้าสู่การเปลี่ยนผ่าน (Transforming) จากระยะแรก เป็นการปูพรมวางโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ โครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งปัจจุบันครอบคลุม 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศแล้ว และระยะที่ 2 การมีส่วนร่วมและการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนไทยทุกคน (Inclusion) ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เกิดอัตราเร่งที่เร็วขึ้น
“ภายใต้แผนพัฒนาฯที่ทำมากว่า 5 ปี สามารถวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ แต่ก็ยังมีครัวเรือนชายขอบอีก 10-20% ที่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึง ถือเป็นการบ้านที่ต้องทำต่อไป ส่วนการเข้าถึงและการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนไทย ปัจจุบันอยู่ที่ 80% ของประชากร”
นายภุชพงค์ อธิบายภาพกว้างของแผนในระยะ 3 ซึ่งวางยุทธศาสตร์หลักว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลว่าภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในแผน ซึ่งจะเริ่มต้นปีหน้า โดยมีหน่วยงานที่เดินหน้าดำเนินการไปก่อนแล้ว เช่น กรมสรรพากรเรื่องการชำระภาษีออนไลน์ การต่อทะเบียนรถออนไลน์ของกรมขนส่งทางบก ในอนาคตมองไปถึงการโอนที่ดิน รวมทั้งการจดทะเบียนธุรกิจการค้าผ่านทางออนไลน์ ตลอดจนการบูรณาการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) ของภาครัฐ เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ และการสร้างวัฒนธรรมดิจิทัลในบุคลากรภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องยากและท้าทาย
“การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของภาครัฐจะกระทบชิ่งไปยังประชาชนให้ต้องเปลี่ยนผ่านตามไปด้วย ภายใต้การให้บริการต่างๆของภาครัฐสู่ประชาชน ขณะที่ภาคเอกชนเดินหน้านำไปก่อนแล้ว”
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนด้านดิจิทัลระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้น ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะภาครัฐไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะแข่งขันกับเอกชน ในทุกประเทศภาคเอกชนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน เพราะเขาทำธุรกิจมีผลกำไรเป็นที่ตั้ง รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้น ภายใต้ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุน สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการเป็นรูปธรรมคือการเปิดประมูล 5G ที่ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน ทำให้ความเร็วของอินเตอร์เน็ตไร้สายในไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่เร็วที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีการใช้งานโมบายแบงกิ้งสูงที่สุดในโลกอีกด้วย
ในแผนระยะที่ 3 ยังจะมีการวางกรอบการส่งเสริมการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ที่ชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่อาคารก่อสร้าง ที่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ 5G โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองต้องกำหนดสเปกของอาคาร 5G ให้ชัดเจน, การกำหนดจริยธรรมหุ่นยนต์หรือ AI Ethics เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งการศึกษาการนำดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit หรือ LEO Satellite) มาให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลในต้นทุนที่ประหยัดกว่าการวางสายไฟเบอร์ออปติกหรือติดตั้งสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ “เราคาดหวังว่าดาวเทียมวงโคจรต่ำจะช่วยขยายการให้บริการอินเตอร์เน็ตไปสู่ครัวเรือนชายขอบของไทยที่อินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึงอีก 10-20% ที่เหลือได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า”
ทั้งนี้ จากการรวบรวมผลการดำเนินงาน ด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมา พบว่า “โครงการเน็ตประชารัฐ” หรือโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของประเทศไทย ครบทั้ง 74,987 หมู่บ้านทั่วประเทศ รวมทั้งสถานศึกษา หมู่บ้าน ศูนย์ดิจิทัลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยมีผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลลงทะเบียนใช้บริการ Free WiFi ภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐ 10,487,510 คน
ขณะที่สัดส่วนประชาชนที่เข้าถึงและใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 83.8% (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2564) และราคาอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรายเดือนด้วยความเร็วขั้นต่ำ อยู่ในระดับไม่เกิน 2% ของรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว (ไม่ควรเกิน 385 บาท โดยค่าบริการเริ่มต้นเฉลี่ย 220 บาทต่อเดือน สำหรับอัตราความเร็ว 30/10 Mbps.)
นอกจากนั้น มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ในปี พ.ศ. 2564 ยังเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ติด 1 ใน 3 อันดับของภูมิภาค (รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลประจำปี 2564 โดย thinkwithgoogle)
ส่วนในมิติกำลังคน มีการจ้างงานบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2561-2563 จำนวน 200,000 คน สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 20,000 งาน ขณะที่การผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลในมุมคุณภาพยังไม่ถือว่าบรรลุเป้า โดยเฉพาะแรงงานดิจิทัลทักษะสูงที่ยังขาดอยู่อีกมาก ตั้งแต่โปรแกรม เมอร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ซึ่งจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนาหลักสูตรเร่งด่วน เพื่อสร้างแรงงานสาขาที่มีความ ต้องการผ่านหลักสูตรทางลัดที่ใช้เวลาไม่ถึง 4 ปี.