นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบทบทวนการกำหนดราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) โดยให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นแอลพีจี 3 ครั้ง ไปที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) โดยปรับขึ้นเดือนละ 0.9346 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กก. จากต้นทุนจริง 460 บาทต่อถัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย.นี้ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมัน ให้สอดคล้องกับเรื่องนี้ต่อไป และให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ประสานบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขอความร่วมมือขยายเวลา ช่วยเหลือส่วนลดราคาแก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้
“กบง.ยังได้เห็นชอบการขยายเวลาโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลด ค่าซื้อแอลพีจีแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.) โดยให้ ธพ. จัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อแอลพีจีแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือนในเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ สำหรับผู้ใช้สิทธิ 4 ล้านราย รวม 220 ล้านบาท”
นายกุลิศกล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาเอ็นจีวีโดยให้กระทรวงพลังงานขอให้ ปตท.คงราคาขายปลีกที่ 15.59 บาทต่อ กก. และคงราคาขายปลีก โครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกันให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล ที่ 13.62 บาทต่อ กก. ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.-15 ก.ย.นี้ ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย.นี้ จึงได้กำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสมของกลุ่มน้ำมันดีเซล ดังนี้ น้ำมันดีเซล บี 7 ไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 7% โดยปริมาตร เป็นต้น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย.นี้ และได้ขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันให้คงค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร.