น้ำมันแพง แก๊สขึ้นราคา คนหันมาใช้เตาถ่านแทน ขณะที่ พริก ผัก ทยอยขึ้นราคา คะน้าขาดตลาดไปแล้ว
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.65 นางปราณี จุลชีพ วัย 73 ปี ชาวจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบันทั้งตัวเองและลูกทีมอีก 3 คน ต้องเร่งปั้นเตาดินตามขนาดให้ทันกับความต้องการ เนื่องจากตอนนี้มียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่คนที่มาสั่งจะนำไปขายต่อในตัวจังหวัด หรือตามหมู่บ้านต่างๆ หลังที่ก๊าซหุงต้มปรับราคาครั้งที่ 3 จากเดิมที่ขายถังขนาด 15 กิโลกรัม ประมาณ 348 บาท พุ่งเป็นถังละ 363 บาท
ทั้งนี้ ทำให้มียอดออเดอร์สั่งซื้อเตาถ่านไปขายต่อเพิ่มอีก 20% แต่เราก็ยังผลิตตามออเดอร์ไม่ทัน เพราะปัญหาหน้าฝนผลิตเตากินใช้ฟืน หรือถ่านแห้งไม่ทัน เมื่อฝนใกล้ตกต้องรีบไปเก็บเตาดินที่ตทกแดดไว้หลบฝนก่อนไปตากในวันรุ่งขึ้น
ในส่วนราคาขายส่งยังเท่าเดิม ลูกเล็กใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงลูกละ 38 บาท ลูกใหญ่ใช้ฟืนหรือถ่านเป็นเชื้อเพลิงลูกละ 65 บาทเท่านั้น โดยลูกทีมที่ปั้นเตาด้วยจะมีรายได้อย่าน้อยวันละ 300 - 500 บาท ขึ้นอยู่กับความขยันของแต่ละคน
ส่วนตนเองหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วมีรายได้จากการปั้นเตาดินขายลูกละ 5 บาท วันละ 100 ลูก มีรายได้แต่ละวัน 500 เท่านั้น อีกอย่างเราก็ไม่กล้าขึ้นราคา กลัวขายไม่ได้เหมือนกัน แม้น้ำมันจะปรับขึ้นราคา ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังขายราคาเดิม ยังไม่ปรับขึ้นราคาแต่อย่างไร
พริกฮอตแดง กับ พริกฮอตเขียว พุ่งสูง แต่ผักคะน้าขาดตลาด
นางสาวขวัญจิตร ขวัญใจเลิศ แม่ค้าขายส่งผัก ตลาดศูนย์การค้า จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า ตอนนี้พริกฮอตแดงราคาพุ่งสูงมาก แต่เดิมถุงละ 10 กิโลกรัม เราขายอยู่ที่ 800 - 900 บาท แต่ขณะนี้ราคาขึ้นไปเป็นถุงละ 1,200 บาทแล้ว และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก
เนื่องจากพริกฮอตแดงส่วนมากจะมาจากฝั่งเมียนมา แต่ช่วงนี้สถานการณ์ไม่สงบ จึงทำให้มีของส่งเข้ามาน้อย เช่นเดียวกับพริกฮอตเขียว ราคาก็ขยับจากถุงละ 550 บาท ขึ้นมาเป็น 900 บาทแล้ว
นอกจากนั้นยังมีแตงกวาถุงละ 10 กิโลกรัม ก็ขึ้นจากถุงละ 120 บาทมาเป็น 180 บาทแล้ว ผักกาดขาวจากถุงละ 40-50 บาท ก็ขึ้นมาเป็น 120 บาท มะเขือเจ้าพระยาจากเดิมถุงละ 60-70 บาท ตอนนี้ขึ้นมาเป็นถุงละ 160 บาท ส่วนผักชีจากเดิมโลละ 100 บาท ตอนนี้ขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 150-160 บาทแล้ว ส่วนผักที่ขาดตลาดในช่วงนี้คือ ผักคะน้าหวาน มีแต่ผักคะน้าตามบ้านที่พอมีออกมาขายบ้างเท่านั้น
รถสองแถวขอนแก่น ร้องขอขึ้นค่าโดยสาร หลังน้ำมันแพงขึ้น กระทบต้นทุน
นายสมบัติ ศรีชัยภูมิ อายุ 60 ปี คนขับรถรับจ้างโดยสารประจำทางที่จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาราคาน้ำมันนั้นส่งผลกระทบโดยตรงกับเรา ระยะนี้ผู้โดยสารไม่ค่อยจะมี เพราะส่วนมากนิยมใช้รถส่วนตัวมากขึ้น ขณะที่การวิ่งตามรอบก็ต้องทำเช่นเดิม ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งก็อยากที่จะคุยกับสำนักงานขนส่งเพื่อขอให้มีการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ขึ้นแบบไม่หยุด
ตอนนี้ค่าโดยสารอยู่ที่ 9 บาท ตลอดสาย ซึ่งราคานี้มีนานมากแล้ว ตั้งแต่ราคาน้ำมันดีเซลยังไม่ถึงลิตรละ 30 บาท ซึ่งถ้าได้ปรับราคาจริงๆ จะขอให้ปรับเปลี่ยนเป็น 12-15 บาท ถึงจะเหมาะสมกับราคาน้ำมัน
อีกทั้งตั้งแต่โควิดระบาด ผู้โดยสารหันไปใช้รถส่วนตัว แต่ช่วงนี้ดีขึ้นเพราะโรงเรียนเปิดเทอมแล้ว ทำให้ช่วงที่คนขึ้นมากที่สุด คือ ตอนเช้า ที่ผู้โดยสารจะเป็นนักเรียน หลังจากนั้นก็จะมีอีกทีช่วงนักเรียนเลิกเรียน ส่วนช่วง กลางวันแทบจะไม่มีคนขึ้นเลย
ด้าน นายแดง แบ่งคง อายุ 56 ปี คนขับรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า ยอมรับว่าราคาน้ำมันแพงแบบนี้กระทบกับรายได้ของการขับรถสองแถวชัดเจน ปัจจุบัน ค่าโดยสารแยกเป็นนักเรียน 6 บาท ผู้ใหญ่และคนทั่วไป 9 บาทตลอดสาย ซึ่งราคานี้รายได้ก็จะเท่าเดิม ขณะที่ต้นทุนสูงขึ้น
ทั้งนี้ รัฐควรจะมีการปรับค่าโดยสารขึ้นให้เหมาะสมกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นด้วย เพราะค่าโดยสารนี้ไม่ขึ้นมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่น้ำมันดีเซลลิตรละ 27 บาท จนวันนี้น้ำมันดีเซลราคาลิตรละ 33 บาทแล้ว แต่ราคาค่าโดยสารยังเท่าเดิม เราเองก็ปรับตัวไม่ได้ก็ได้แต่ทำใจ เพราะเราไม่ใช่ผู้บริหาร
ถ้าเป็นผู้บริหารก็ต้องคิดดูว่าคนหาเช้ากินค่ำเดือดร้อนแค่ไหน ถ้าสมควรปรับก็ต้องปรับ ส่วนราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมกับราคาน้ำมันช่วงนี้ประมาณ 12 บาท ไม่ขอมากขอแค่นี้ เพราะถ้า 15 บาทจะแพงเกินไป อีกทั้งถ้าปรับราคาขึ้นก็ให้จะทำให้คนขับรถโดยสารประจำทางอยู่ได้ไม่ลำบากมาก
ขณะนี้ ผู้โดยสารหายไปประมาณ 50% วันใดที่นักเรียนมาโรงเรียนก็ยังพอมีลูกค้า แต่ถ้าวันใดไม่มีนักเรียน รายได้ก็จะเหลือแต่ค่าน้ำมัน ส่วนค่าเช่ารถก็ยังลำบาก เดิมที่ผ่านมาเคยหักค่าต้นทุนต่างๆ แล้วจะเหลือรายได้วันละ 200-300 บาท
แต่วันนี้เหลือรายรับเพียง 100 บาท จึงอยากจะฝากถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ช่วยเรื่องค่าน้ำมัน ถ้าไม่ลดราคาก็ขอให้ช่วยปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร เพราะถ้าให้หยุดวิ่งไปเลยคงจะไม่ได้ เพราะเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงคนในครอบครัว