ตามรอยธรรมหลวงปู่มั่น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ตามรอยธรรมหลวงปู่มั่น

Date Time: 31 พ.ค. 2565 06:41 น.

Summary

  • เมื่อปลายปี 2562 ที่ประชุมใหญ่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้มีมติยกย่องให้ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ

Latest

เอ็มจีซี-เอเชียรุกเวียดนาม จับมือทุนยานยนต์บิ๊กเบิ้มตั้งเป้ากอดคอกันโตยั่งยืน

เมื่อปลายปี 2562 ที่ประชุมใหญ่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้มีมติยกย่องให้ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ ในวาระปี พ.ศ.2563–2564 และยังเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี ชาตกาล องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

บริษัท ไทยเบฟ เวอเรจ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสิริวัฒนภักดี จึงได้ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัด “โครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” เพื่อถวายเป็นอาจาริยบูชา แด่องค์หลวงปู่มั่น

โดยนอกจากเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี ชาตกาล องค์หลวงปู่มั่น ยังได้ถือโอกาสเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนได้เดินทางเข้าไปเรียนรู้ประวัติ วัตรปฏิบัติอันงดงาม รวมทั้งปฏิปทา คำสอนขององค์หลวงปู่มั่น ใน 12 จังหวัด 36 หมุดหมายทั่วประเทศ

และที่สำคัญยังเป็นการส่งเสริม สร้างรายได้ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี จากการที่ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2563 ได้เกิดการระบาดของโรค “โควิด-19” ที่ลุกลามไปทั่วโลก ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจึงไม่อาจจะดำเนินโครงการนี้ได้เต็มที่ โดยเฉพาะโครงการตามรอยหลวงปู่มั่น โดยเพิ่งจะเริ่มกลับมาดำเนินโครงการได้เต็มที่ในช่วงนี้ เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย และประชาชนได้มีการฉีดวัคซีนกันทั้งประเทศแล้ว

นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ กล่าวในฐานะประธานคณะทำงานโครงการท่องเที่ยว โดยชุมชน ตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บริษัท ไทยเบฟฯ ว่าไทยเบฟฯจัดโครงการนี้เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปศึกษาคำสอน ซึ่งถือเป็นต้นแบบให้กับพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและการภาวนาเจริญสมาธิ ที่ได้จาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง

สำหรับสถานที่เหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราว และญาณหยั่งรู้อันน่าอัศจรรย์ต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมขององค์หลวงปู่มั่น ที่มีคุณค่ายิ่งแก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา อีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริม และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน

โดยได้จัดทำใน 12 จังหวัดที่มีความสำคัญและความเชื่อมโยงกับองค์หลวงปู่มั่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ลพบุรี นครนายก เชียงใหม่ อุบลราชธานี นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ

การดำเนินโครงการนี้ได้ยึดหลักการทำงานร่วมกันระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน ภายใต้หลัก “บ.ว.ร.” (บ้าน วัด โรงเรียน) และขยายผลไปสู่ บ.ว.ร. 2 (บริษัท วิสาหกิจชุมชน ราชการ) ที่ประสานและเชื่อมโยงกับผู้มีจิตศรัทธาได้บูรณาการความร่วมมือ

“เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ของชุมชนจากโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ผู้ประกอบการร้านค้าชุมชน ร้านอาหาร โฮมสเตย์ ผู้ผลิตสินค้าชุมชน ของที่ระลึก และพัฒนาต่อยอดให้มีวิสาหกิจเพื่อสังคมในอนาคต”

หนึ่งในเส้นทางที่น่าสนใจของการตามรอยธรรมหลวงปู่มั่น คือที่ จ.อุดรธานี โดยไทยเบฟฯได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค.ที่ผ่านมา เพราะที่ จ.อุดรธานี นับเป็นพื้นที่มีความสำคัญที่หลวงปู่มั่นได้จาริกมาปฏิบัติธรรมและได้ฝากมรดกธรรมและคำสอนไว้กับชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่อย่างมากมาย

อาทิ วัดป่าโนนนิเวศน์ ต.บ้านเลื่อม อ.เมือง หลวงปู่มั่น ได้มาพำนักและเทศนาสอนธรรมเมื่อปี พ.ศ.2482-2483, วัดป่าโนนสว่าง ต.นายูง อ.นายูง ในช่วงที่หลวงปู่มั่นจาริกใน จ.อุดรธานี ได้พาลูกศิษย์ คือ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ มายังป่าบ้านนาหมี, วัดป่าหนองกอง ต.บ้านค้อ อ.บ้านผือ หลวงปู่มั่น ได้เดินธุดงค์มาพักชั่วคราวที่วัดนี้

วัดป่าสาระวารี (วัดป่าดงมะไฟ) ต.บ้านค้อ อ.บ้านผือ หลวงปู่มั่น ได้มาตั้งวัดป่าสาระวารี (เดิมวัดป่าดงมะไฟ) และได้แกะสลัก พระพุทธรูปหิน 1 องค์ ด้วยตัวท่านเอง และ ผาแดง-น้ำตกยูงทอง ต.นายูง อ.นายูง หลวงปู่มั่นได้จาริกแสวงหาสถานที่วิเวกในพื้นที่

นอกจากนี้ ในเส้นทางยังมีจุดที่อยากแนะนำให้ประชาชนได้แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมคือ ชุมชนบ้านนายูง ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ได้มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติผสมผสานกับนวัตกรรม กลายเป็นกิจกรรมแอดเวนเจอร์โหนสลิงข้ามอ่างเก็บน้ำ พร้อมชื่นชมบัวหลวงที่สวยงาม และฟาร์มเลี้ยงแพะ

ที่บ้านนายูง ม.1 และ ม.9 ยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวสวนผลไม้หลากชนิด เช่น เงาะ มังคุด ลองกอง ส้มโอ กลุ่มแปรรูปกล้วย เครื่องจักสาน รวมไปถึงการทอผ้ามัดหมี่ลายนกยูง เอกลักษณ์ของอำเภอนายูง

เรียกได้ว่าการตามรอยเส้นทางธรรมของหลวงปู่มั่น นอกจากจะได้เข้าถึง 3 ธรรม นั่นคือ 1.ธรรมะ 2.ธรรมชาติ และ 3.วัฒนธรรม

ยังช่วยสร้างรายได้ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชน หนุนส่งเศรษฐกิจฐานรากไปโลดเด้อ!!!

เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ