“บิ๊กตู่” โชว์กึ๋น 3 ปัจจัยพลิกฟื้นเอเชีย ชูความพร้อมเจ้าภาพจัดประชุม “เอเปก”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“บิ๊กตู่” โชว์กึ๋น 3 ปัจจัยพลิกฟื้นเอเชีย ชูความพร้อมเจ้าภาพจัดประชุม “เอเปก”

Date Time: 27 พ.ค. 2565 05:07 น.

Summary

  • “ประยุทธ์” เสนอ 3 ประเด็นฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ในเวที “นิเคอิ ฟอรัม” ที่ญี่ปุ่น โชว์ความพร้อมไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปก เตรียมเสนอทบทวนการหารือเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“ประยุทธ์” เสนอ 3 ประเด็นฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ในเวที “นิเคอิ ฟอรัม” ที่ญี่ปุ่น โชว์ความพร้อมไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปก เตรียมเสนอทบทวนการหารือเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ให้คำนึงถึงประเด็นการค้าและการลงทุนใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล สิ่งแวดล้อม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวปาฐกถาในการประชุม International Conference on the Future of Asia (นิเคอิ ฟอรัม) ครั้งที่ 27 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่า การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุล และก้าวไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งในมุมมองของไทยมี 3 สิ่งที่เชื่อว่าเอเชียจะร่วมกันทำได้เพื่อก้าวข้ามสถานะปัจจุบัน มุ่งให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ประกอบด้วย 1.กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องทำให้ตลาดเปิดกว้างและครอบคลุมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีภูมิต้านทานมากพอที่จะปรับตัวและรับมือกับความชะงักงันและความไม่แน่นอน พร้อมกับมีห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลกที่มีความเข้มแข็ง จึงต้องสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนกลาง

“ไทยได้เตรียมกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานรองรับภูมิทัศน์ทางการเงิน และเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว กำลังยกระดับและขยายระบบขนส่งทางรางและท่าอากาศยานทั่วประเทศ และพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและการบริหารจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ การส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนการสร้างบุคลากรดิจิทัลที่มีทักษะสูง ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ที่น่าดึงดูดในภูมิภาค ขณะเดียวกัน ไทยและสิงคโปร์ได้เชื่อมระบบชำระเงินดิจิทัลครั้งแรกของโลก และเชื่อมระบบในลักษณะเดียวกันกับญี่ปุ่น กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซียแล้ว จึงหวังว่าจะสามารถเชื่อมต่อระบบกับประเทศอื่นๆเพิ่มเติม โดยเฉพาะในเอเปก”

2.ไทยเชื่อมั่นแนวคิดพหุภาคีและขับเคลื่อนความร่วมมือระดับพหุภาคีต่อไปให้มากที่สุด เพราะไม่มีประเทศใดจะสามารถรับมือได้เพียงลำพัง ซึ่งในการจัดการประชุมเอเปก 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย.นี้ จะขับเคลื่อนงานของเอเปก ไม่ย่อท้อ และขอยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้เอเปกยังคงเดินหน้าต่อ ซึ่งไทยจะผลักดันให้ทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ให้คำนึงถึงประเด็นการค้าและการลงทุนใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเสนอให้มีจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อหาแนวทางที่จะรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ การใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกันได้ในเอเปกและการขยายขอบเขตการใช้บัตรเดินทางของนักธุรกิจในเอเปก ตลอดจนการส่งเสริมให้ธุรกิจเล็กๆ สามารถเข้าถึงตลาดและเงินทุนได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ไทยเสนอให้มีการรับรองเอกสารระดับผู้นำ ชื่อว่า “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” จะวางรากฐานเอเปกด้านความยั่งยืนที่ครบถ้วนที่สุด ทั้งในด้านการปรับตัวและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

และ 3.ขอเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมมือไปสู่ความยั่งยืนของไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด โดยได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แล้ว หวังว่าจะเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์อีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และหวังว่าจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้านนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือทวิภาคีกับนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยแสดงความยินดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศเป้าหมายที่จะทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเดินทางเข้าญี่ปุ่น และขอเชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นจะได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวให้แน่นแฟ้นขึ้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและสมาชิกเอเปกในโอกาสการเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปกในเดือน พ.ย.นี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทย และชื่นชมนโยบาย BCG ของไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเติบโตสีเขียว และเกษตรอัจฉริยะของญี่ปุ่น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ